เศรษฐาโชว์ลีลาแถลงนโยบาย ย้ำจุดยืนพิทักษ์สถาบัน บริหารบ้านเมืองสุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวม ชูกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่น จุดชนวนกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นได้ ขณะที่กก.ตัดเกรดพท.มาตรฐานตก ขณะที่ปชป.เปรียบนโยบายนินจา เลื่อนลอยขาดความชัดเจน
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 08.12 น. วันที่ 11 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภา ว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองประเทศ เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการเข้ารัฐสภาเป็นครั้งแรก นายเศรษฐา กล่าวว่า มีหลายความรู้สึก ทั้งเป็นเกียรติและตื่นเต้น เพราะไม่เคยมาเลย เมื่อถามว่า เห็นรัฐสภาครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็อลังการดี เมื่อถามว่า พร้อมหรือไม่กับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายเศรษฐา กล่าวว่า พร้อมครับ เมื่อถามต่อว่า มีอะไรต้องกังวลหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะเตรียมตัวมาดี และทีมงานก็มีการพูดคุยกันแล้ว
เมื่อถามอีกว่า ได้มีการแบ่งหน้าที่ให้รัฐมนตรีและส.ส. ช่วยอภิปรายหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า แบ่งกันเรียบร้อยแล้ว พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกอันทรงเกียรติ และพร้อมแถลง เมื่อถามต่อว่า หากยังไม่มีการแบ่งงานให้รัฐมนตรีก็จะไม่สามารถช่วยชี้แจงได้ นายเศรษฐา กล่าวว่า มีการพูดกันคร่าวๆ แล้ว ขอให้คอยฟังแล้วกัน เมื่อถามย้ำว่า อาจจะเป็นนายกฯคนเดียวที่ต้องชี้แจงนายเศรษฐา กล่าวว่า คงไม่ใช่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังที่นายกฯรับผิดชอบ จะชี้แจงเองหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยชี้แจง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องช่วยกันทุกคน เมื่อถามอีกว่า ส.ว.ยังติดใจในเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มีการเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า พร้อม วันนี้ทีมงานพร้อมทุกคน พร้อมชี้แจงทุกคำถาม เมื่อถามว่า มีการระบุว่านโยบายของรัฐบาลไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอให้เราฟังคำชี้แจงก่อนแล้วกัน ส่วนนโนบายเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ห่วงว่าจะกลายนโยบายกัญชาเพื่อเศรษฐกิจหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นกัญชาทางการแพทย์
ต่อมา เวลา 09.33 น. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาวันแรก โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ส.ส. และส.ว. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดย นายเศรษฐา กล่าวชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า ครม.มีนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม นำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศให้ก้าวหน้า วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังยืดเยื้อ ฝังรากลึก ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจประเทศกว่าร้อยละ30.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ภาคส่งออกติดลบติดต่อกัน 3ไตรมาส ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงกว่าร้อยละ90 ของจีดีพี หนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ61 อาจกลายเป็นข้อจำกัดด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต
ส่วนภาคการเกษตร ประชากรกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคที่ทำงานหนัก แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7ต่อจีดีพี ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท ด้านการเมืองมีความเห็นต่าง แบ่งแยกทางความคิด ทำให้สังคมอยู่ในจุดน่ากังวล ข้อกฎหมายไม่ทันสถานการณ์บ้านเมือง ปัญหาทุจริต อาชญากรรม ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤติศรัทธาประชาชน กลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า
รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วนได้แก่ กรอบระยะสั้น จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว จะเสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ข้อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม 2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน 3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก 4.การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
สำหรับนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเปิดประตูสินค้าและการบริการของประเทศสู่ตลาดใหม่ๆ อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าตามแนวชายแดน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก ส่วนภาคการเกษตร จะสร้างรายได้ภาคการเกษตร โดยใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้
ขณะเดียวกันรัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศ จะปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัย โดยเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง
นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ การยกระดับนโยบาย 30บาท รักษาทุกโรค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัดและภาระบุคลากรทางการแพทย์ การผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า จะเป็น 4 ปี ที่รัฐบาลวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ
ท้ายที่สุดรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะตั้งใจ ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน (รายละเอียดอ่านหน้า2)
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า คำแถลงนโยบายที่ดีต้องเหมือนจีพีเอส ที่จะบอกว่าเป้าหมาย ตลอด 4 ปี คืออะไร รัฐบาลจะเดินไปเส้นทางไหน เหมือนหรือต่างกับผู้ร่วมทางตอนหาเสียงหรือไม่ จะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ แต่เมื่อนั่งฟังนโยบายรัฐบาลจนจบ พบว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ ถ้าเปรียบเป็นจีพีเอสเหมือนประเทศกำลังหลงทาง ขาดความชัดเจน และหากเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนมากกว่า ซึ่งทั้งเป้าหมาย วิธีการ และการกำหนดกรอบเวลา ถือว่ามีความสำคัญเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่าท่านได้ทำตามสัญญาหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ เพราะเป็นสัญญาที่เอาไว้แลกกับคะแนนเสียง หากพรรคไหนคิดกลับคำตระบัดสัตย์ไม่บรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ในนโยบายรัฐบาล คงถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน
หากตัดเกรดคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ให้อยู่เกรดเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ และคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ แถลงได้ดีกว่าด้วยซ้ำ การแถลงนโยบายไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม เขียนแบบพูดอีกก็ถูกอีกเหมือนพูดว่าน้ำเป็นของเหลว จึงเท่ากับว่ารัฐบาลนี้ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการอธิบายรายละเอียดของนโยบาย
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า นโยบายดิจิทัลวอลเลตที่จะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท แหล่งที่มาของงบประมาณจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินต้องพิจารณาว่างบพอหรือไม่หรือมีเงินสดพอหรือไม่ หรือหากใช้เงินนอกงบประมาณ จะมี 3 วิธีการคือ กู้ยืมเงินจากธนาคารรัฐ กู้ยืมเงินกองทุนหมุนเวียนหรือไม่ และขายกองทุนวายุภักษ์ หากเลือกใช้งบฯปี 67 คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะงบฯที่เหลือจริงๆ ที่ท่านจะใช้ได้คือ 4 แสนล้านบาท ท่านได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหรือยังที่จะเอางบที่เหลือมาลงกับดิจิตอลวอลเลต แต่หากเลือกใช้เงินนอกงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้หากไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า นายเศรษฐาประกาศว่ารัฐบาลนี้จะเป็นของประชาชน ตนก็ขอประกาศว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็จะทำหน้าที่ของประชาชนและจะทำหน้าที่ตรวจสอบราชการแผ่นดินเต็มความสามารถ ขอแสดงจุดยืนสั้นๆ ต่อประธานสภา 2 ข้อ หนึ่ง ขอยืนยันว่าพวกตนจะไม่ค้านทุกเรื่อง แต่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านเข้มแข็ง ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนและรักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน สอง การทำงานร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น พรรคถือหลักแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง อะไรที่เป็นจุดยืนสำคัญของพรรคอย่าง ไม่แตะม.112 แม้ในวันหนึ่งอาจจะมีพรรคร่วมฝ่ายค้านใดได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในสภา พรรคจะไม่สนับสนุน
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายที่นายกฯ แถลงไป ตนได้ดูอย่างละเอียด มีความเห็นเหมือนสาธารณชนทั่วไปและสมาชิกหลายคนที่อภิปราย ว่ามาตรฐานรัฐบาลชุดนี้สวนทางกับความสูงของนายกฯ จริงๆ การตั้งโจทย์ประเทศคลุมเครือ นโยบายเลื่อนลอยขาดความชัดเจน หากใครอ่านครบจะพบว่าฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรมวกไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ที่สำคัญที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ นโยบายที่นายเศรษฐาแถลงเมื่อสักครู่และนโยบายหาเสียงเป็นหนังคนละม้วน เป็นนโยบายไม่ตรงปกอย่างที่วิจารณ์กัน
นโยบายแรก เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ตอนหาเสียงอึกทึกคึกโครม สร้างความหวังให้เด็กที่กำลังจะเรียนจบ วันนี้นโยบายนี้หายไปไหนเสียแล้ว กลายเป็นนโยบายนินจาเพราะหายไปอย่างไร้ร่องรอย หรือท่านคิดว่านโยบายนี้ตอนหาเสียง ว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2570 อย่างไรก็อยู่ไม่ถึง จึงไม่จำเป็นต้องระบุไว้ ท่านสัญญาแล้วต้องทำ ตนขอทวงสัญญานี้แทนคนรุ่นใหม่ทั้งประเทศ
นโยบายที่สอง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ตอนหาเสียงหลายฝ่ายท้วงว่าหากขึ้นค่าแรงทันที 600 บาทต่อวัน น่าเป็นห่วงเอกชน และเอสเอ็มอี นโยบายที่สาม รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขีดเส้นใต้ว่า ทำทันที ล่องหนไปอีกนโยบาย ส่วนนโยบายที่สี่ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เมื่อสักครู่น.ส.ศิริกัญญาเอ่ยไปว่าเติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ทุกเดือน แต่ให้นักวิชาการดูคร่าวๆ ว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน มีเกือบ 20 ล้านครอบครัว หากจะทำนโยบายนี้ต้องเติมเงินหลักแสนล้าน จะนำเงินมาจากไหนหรือสุดท้ายกลายเป็นนโยบายล่องหน
นโยบายที่ห้า เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตอนหาเสียงท่านบอกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ ในจังหวัดที่มีความพร้อม วันนี้ที่นายกฯ แถลงไม่มีสักคำ