“ทนายเชาว์” ยก ภาษิตกฎหมาย "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน" ชี้ หมายจับใหม่ เทียบแนวฎีกา ไม่เคยให้นับย้อนหลัง  เชื่อ หลัง 10 ก.ย. อิทธิพลกลับเข้าประเทศแบบเท่ๆ เหน็บ ปปช. อัยการ กลบกระแสได้ แต่กลบความผิดล่าช้าไม่ได้  ตั้งคำถาม  มีอิทธิพลเหนือสำนวน ดึงเวลาให้หลบหนี ใช่หรือไม่ 

วันนี้ (8 ก.ย.  66)  นายเชาว์ มีขวด  ทนายความ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ เฟสบุ๊ค CHAO meekhuad เรื่อง หมายจับ อิทธิพล ขาดอายุความวันไหน ย้อนหลังได้หรือไม่ กลบกระแสได้แต่กลบความผิด คดีล่าช้าไม่ได้ มีเนื้อหา ระบุว่า กรณีนายอิทธิพล คุณปลื้ม ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ อดีต นายกเมืองพัทยา ผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 เหตุพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เริ่มร้อนแรงขึ้นเมื่อหลายฝ่ายเริ่มสงสัยในความผิดปกติทำคดีล่าช้าถึง 15 จนใกล้จะขาดอายุความเพียง 6 วัน ขณะที่ไม่สามารถนำ ตัวนายอิทธิพลมาฟ้องต่อศาลได้เพราะหลบหนีไปประเทศกัมพูชาแล้ว อัยการและปปช.กลบกระแสร้อนแรง ด้วยการยก ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนับอายุความตามกฏหมาย ปปช. ฉบับใหม่ ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับใหม่แทนหมายจับเดิมที่อายุความสิ้นสุดแค่วันที่ 10 กันยายน 2566 โดยอ้างมาตรา 7 ของกฎหมาย ปปช. ฉบับใหม่ ปี 2561 และมาตรา 13 พรบ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ 2559 ที่ไม่ให้นับอายุความระหว่างหลบหนีคดี ศาลอนุมัติให้ออกหมายจับใหม่ตามที่ร้องขอ

นายเชาว์ ระบุว่า ปัญหาว่าจะใช้กฎหมายปปช. ฉบับใหม่เรื่องการไม่ให้นับอายุความระหว่างหลบหนี ย้อนหลังไปในลักษณะที่เป็นโทษแก่คดีของนายอิทธิพลที่เหตุเกิดก่อนกฎหมาย ปปช. ฉบับใหม่ได้หรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายพื้นๆตามภาษิตกฎหมายสากลที่ว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน" อันเป็นหลักที่ถือปฏิบัติกันเคร่งครัดว่า ในทางอาญากฎหมายจะมีผลย้อนหลังไม่ได้ เว้นแต่ย้อนหลังไปเป็นคุณแก่ผู้ต้องโทษ สอดคล้องกับมาตรา 29 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้" คดีที่นายอิทธิพลถูกกล่าวหาเหตุคดีเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551  ขณะนั้นกฎหมาย ปปช. ฉบับใหม่เรื่องไม่ให้นับอายุความระหว่างหลบหนียังไม่ใช้บังคับ จึงต้องนับอายุความตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะนั่น คือกฎหมายอาญา มาตรา 95  กำหนดอายุความสำหรับความผิดคดีนี้ไว้ 15 ปี คดีนี้จึงขาดอายุความ วันที่ 10 กันยายน 2566 เมื่อไม่ได้ตัวมาฟ้องต้องถือว่าคดีขาดอายุความ จึงเชื่อว่าหลังวันที่ 10 กันยายน นายอิทธิพลจะเดินทางกลับมาประเทศไทยอย่างเท่ๆ แม้จะถูกจับตามหมายจับใหม่นายอิทธิพลก็จะยกข้อกฎหมายเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ ซึ่งไม่ยาก เพราะเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ไม่ให้นำอายุความมาใช้ย้อนหลัง เช่น ฎีกาที่ 17905/2557,ฎีกาที่ 9955/2558,ฎีกาที่ 10166/2558,ฎีกาที่ 10616/2558, ฎีกา(ประชุมใหญ่ ที่ 14/2560 

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ ปชช. และอัยการก็รู้อยู่เต็มอกว่าหมายจับใหม่ไม่มีผลย้อนหลังและทำอะไรนายอิทธิพลไม่ได้แล้ว ตามข้อกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่ยกมาข้างต้น แต่ขอให้ศาลออกหมายจับใหม่ก็เพื่อต้องการลดกระแสความร้อนแรงจากการถูกสังคมตั้งคำถามเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้น คือเรื่องความล่าช้าว่า ทำอะไรกันอยู่ถึง 15 ปี พึ่งนึกมาฟ้องเอาตอนคดีจะขาดอายุความเพียง 6 วัน ไล่เรียงตั้งแต่ ความผิดเกิดเมื่อวันที่ 10 เกันยายน 2551 อายุความตามกฎหมาย 15 ปี ครบกำหนดวันที่ 10 กันยายน 2566 คดีอยู่ในมือ ปปช. 14 ปี 10 เดือน กว่าจะชี้มูลความผิด เมื่อ 24 กรกฎาคม 2566 และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการวันที่ 3 สิงหาคม 2566 อยู่ในมืออัยการสูงสุด 27 วัน  อัยการสั่งฟ้อง 30 สิงหาคม 2566 และนัดให้นายอิทธิพลมาพบเพื่อนำตัวไปฟ้องต่อศาลวันที่ 4 กันยายน 2566 นายอิทธิพลไม่มาตามนัด อัยการจึงขอให้ปปช. ขอให้ศาลออกหมายจับ ศาลอนุมัติหมายจับให้ทันทีวันที่ 5 กันยายน 2566 แต่ไม่มีตัวให้จับ ทราบภายหลังว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม เดินทางออกนอกประเทศจากสนามบินสุวรรณภูมิไปประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. อันเป็นวัน เวลาเดียวกันพอดีกับวันที่อัยการสั่งฟ้อง 

จึงมีคำถามว่า 1. คดีนี้นายอิทธิพล มีอิทธิพลเหนือสำนวนการสอบสวนของ ปปช. จึงดึงคดีให้ล่าช้าค่อน 15 ปีเพื่อให้คดีหมดอายุความโดยเฉพาะช่วง 4 ปีสุดท้ายที่นายอิทธิพลเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในรัฐบาลลุงตู่ ใช่หรือไม่ 2. การสั่งฟ้องของอัยการรั่วถึงหูนายอิทธิพลก่อน จึงหลบหนีไปประเทศกำพูชา ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของกำนันผู้เป๊าะผู้เป็นบิดามาก่อน ใช่หรือไม่ สอบกันดีๆงานนี้อาจจะมีคนติดคุกแทนนายอิทธิพลก็ได้ครับ”นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย