เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 พลเรือโท กฤษฎา รัตนสุภา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พร้อมด้วยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พลเรือตรี ธวัชชัย พิมพ์เมือง เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 2 นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นางรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า และคณะ ได้เดินทางไปประกอบพิธีวางเรือหลวงหาญหักศัตรู ลงใต้ทะเลบริเวณอ่าวเมา ฝั่งตะวันออกของเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน ตามโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นลำที่ 2 ต่อจากเรือหลวงสู้ไพรินทร์ ที่ได้วางใต้ทะเล ณ จุดดำน้ำ โนเนม ฝั่งตะวันตกของเกาะนางยวน เมื่อวันที่ 7 ก.ย.66 ซึ่งเป็นพิธีสำคัญในการให้เกียรติเรือหลวงทั้ง 2 ลำที่ปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลมากว่า 47 ปี และได้ปลดประจำการลงปฎิบัติภารกิจสุดท้ายเป็นแหล่งอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง รวมทั้งเพิ่มจุดดำน้ำเรือรอบเกาะเต่า

พลเรือโท จรัสเกียรติ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 กล่าวตอนหนึ่งว่า กองทัพเรือ ให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยในการด้านฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลแล้ว ยังจะช่วยด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้ และอยู่ในพื้นที่มีความสำคัญของประเทศไทย ที่ผ่านมากองทัพเรือ เคยมอบเรือที่ปลดประจำการ เรือหลวงสัตกูด มาจัดวางเป็นจุดดำน้ำเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 (เป็นลำแรกที่ฝั่งตะวันตกของเกาะเต่า)เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังธรรมชาติถือเป็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ จึงถือว่าเป็นการรับใช้ชาติครั้งสุดท้าย

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า บริเวณพื้นที่เกาะเต่า มีแนวปะการังล้อมรอบยาวกว่า 8 กิโลเมตร ถือได้ว่ามีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาก ประกอบกับประชาชนชาวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีความเข้มแข็งในการดำเนินการแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ล่าสุดอ่าวโตนด เกาะเต่า เป็นหนึ่งเดียวในฝั่งอ่าวไทยที่ได้รับประกาศชายหาดสวยที่สุดในโลกอันดับ 44 ของ World beach guide เป็นสิ่งบ่งชี้ความสวยงามธรรมชาติชัดเจนที่สุด ประกอบกับได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพเรือมอบเรือหลวงที่ปลดประจำการ ล่าสุดรวมแล้ว 3 ลำมาวางใต้ทะเลรอบเกาะเต่า 3 จุดถือเป็นวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเกาะเต่าและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะเปิดโฉมการท่องเที่ยวดำน้ำใต้ทะเลที่มีจุดวางเรือรบมากที่สุดในประเทศ และจะเป็นแหล่งปะการังใหม่ของเกาะเต่าต่อไป

ด้านนางรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า กล่าวว่า แนวปะการัง เป็นต้นทุนสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า ที่ชาวเกาะเต่าให้ความสำคัญร่วมกันอนุรักษ์ ดูแล ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการร้านดำน้ำ องค์กรสำหรับการฝึกดำน้ำแบบสกูบา ชมรม และผู้ประกอบการชาวเกาะเต่า จำนวนกว่า 64 แห่ง จึงร่วมมือร่วมใจสนับสนุนโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กว่า 8.6 ล้านบาท ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นหน้าบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าที่สำคัญของเกาะเต่า

​​​​​​​

“ เกาะเต่า เป็นที่นิยมที่สุดในการเรียนดำน้ำ และผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สถิติของ PADI (PROFESSIONAL ASSOCIATION OF DRIVING INSTRUCTOR) ในทุกปีทั่วโลกจะมีนักเรียนเกือบ 100,000 คน ที่ได้รับประกาศนียบัตรนักดำน้ำ ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติถึงร้อยละ 90 และนักดำน้ำเกือบ 100,000 คนมาเรียนที่เกาะเต่าร้อยละ50 แหล่งดำน้ำเกาะเต่า นอกจากเป็นที่ 1 ของเอเชียที่สามารถผลิตนักดำน้ำจนได้รับรางวัลยังได้รับการยอมรับไม่เป็นรองออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา “ นางรำลึก กล่าว