บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-energy Power Plant)
มีการกล่าวถึงโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมานานแล้วว่า รัฐบาลมัวทำอะไรกันอยู่ ไม่เห็นดำเนินการสักที เพราะในภาพรวมแล้วมันมีประโยชน์มาก เป็นประโยชน์หลายเด้ง แต่ในขณะเดียวกันเสียงก่นด่า เสียงคัดค้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะก็มีมาไม่ขาดยาวนานที่สืบย้อนไปร่วมสิบปีได้ จะว่าไปก็ช่วง คสช.นั่นแหละ แม้ว่าในช่วง คสช.จะมีวาระแห่งชาติ Quick WIN เรื่อง “การบริหารจัดการขยะ” กำหนดไว้ และปรากฏออกมาในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยก็ตาม เหมือนเป็นดาบสองคมที่มีดี ก็ต้องมีเสีย เช่น การดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะทำให้ขยะในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ลดลง แต่อาจจะเพิ่มมลพิษให้กับชุมชนในพื้นที่นั้นๆ แต่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นก็เป็นการสื่อความหมายว่า เป็นปัญหาที่การบริหารจัดการเสียมากกว่า เพราะ สรุปแล้วว่า มันคือปัญหา แต่ปรากฏว่ารัฐกลับแก้ไขปัญหาไม่ได้อย่างลุล่วง ดูๆ แล้วติดขัดไปหมด นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายในสภาปี 2563 ไม่ไว้วางใจ รมว.มท.ว่า “ไทยเป็นบ่อขยะโลกนายทุนรวยประชาชนจ่ายราคา” เป็นปัญหาความเห็นต่างในเรื่องการจัดการขยะ ปัญหาเหล่านี้มันสะสมขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจ หรือ การเสียประโยชน์ หรือการได้ผลประโยชน์กันแน่ เพราะ โครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะนั้นมีมูลค่าสูงมาก โรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งมูลค่าหลักพันล้าน มูลค่ารวมๆ ถึงแสนล้าน และในขณะเดียวกันปริมาณขยะก็สูงเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชนเมือง
จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น ขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ลดลง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องลดลง ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น ปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ จากข้อมูลระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ย้อนหลังในปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ปริมาณต่อวัน ขยะที่ตกค้าง ปี 2560-2565 แม้ปริมาณขยะลดลงเล็กน้อย แต่ปริมาณขยะตกค้างเพิ่มมากขึ้นถึงเท่าตัวในปี 2564-2565 ดังนี้ ปี 2560 ขยะ 27.37 ล้านตัน 75,000 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 5.38 ล้านตัน ปี 2561 ขยะ 27.93 ล้านตัน 76,534 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 4.52 ล้านตัน ปี 2562 ขยะ 28.71 ล้านตัน 78,671 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 4.02 ล้านตัน ปี 2563 ขยะ 25.37 ล้านตัน 69,519 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 4.25 ล้านตัน ปี 2564 ขยะ 24.98 ล้านตัน 68,450 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 7.50 ล้านตัน ปี 2565 ขยะ 25.70 ล้านตัน 70,423 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 9.91 ล้านตัน
ข่าวการต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าอาจเป็นแค่เชิงประจักษ์พบเห็นที่เกิดขึ้น แต่เนื้อแท้นั้นต้องร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ถอดรากเหง้าปัญหาออกมาให้ได้ โดยเฉพาะประเด็นแห่งความเงื่อนงำสงสัยต่างๆ เช่น ความไม่โปร่งใส การรวบรัดตัดตอนดำเนินการ การผูกขาดของนายทุน โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนเจ้าของพื้นที่ รวมถึงแผนการจัดการพลังงานที่ผิดพลาดต่างๆ เป็นต้น ขอเก็บข่าวเหมารวมๆ มานำเสนอ
หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste to energy) คือใช้ขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า มีวิธีการทำงานเหมือนกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ คือจะนำขยะมาเผาบนตะแกรง แล้วนำความร้อนที่เกิดขึ้นมาใช้ต้มน้ำในหม้อน้ำจนกลายเป็นไอน้ำเดือด ซึ่งจะไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การนำขยะมาเผาเพื่อให้เกิดความร้อนไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แต่ในขณะเดียวกันการเผาขยะ ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นมะเร็งและความผิดปกติในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2015 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน (2558) ได้ทดลองลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) ตามโครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากขยะร่วมกับ อปท.
ในช่วงปี 2562 รัฐได้พยายามเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะ มีข่าวกระทรวงมหาดไทยลุยโรงไฟฟ้าขยะ โดยการหนุนภาคเอกชนร่วมลงทุนกับท้องถิ่น (อปท.), ข่าวจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,500 ล้าน ให้กระทรวงมหาดไทยใช้คัดแยกขยะชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้า (Energy News Center), ข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไฟเขียวเอกชนตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 11 โครงการ (ใน 9 จังหวัด) ถือเป็นข่าวดีมาก แต่ในขณะเดียวกันข่าวการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยเฉพาะที่ร่วมทุนกับท้องถิ่น ที่เริ่มมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ได้ผุดโพล่มาเป็นระลอก ในหลายพื้นที่ จนการคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าเป็นแฟชั่นไปเลย เช่นข่าวตามสื่อตามห้วงเวลาในท้องที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก (2556) อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ (2561-2563) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (2561) อ.เขาย้อย อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี (ขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน 2563-2564) อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู (2563) อ.เมือง จ.พิษณุโลก (2565) อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี (โรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 2566) อ.พาน จ.เชียงราย (2566) อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (2566) อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ (2566) อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา (2566) เป็นต้น
ปี 2566 ปรากฏข่าวการต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมากขึ้นในหลายๆ แห่งของประเทศ จนเกิดม็อบ เกิดมวลชนประท้วงกันวุ่นวาย ที่เกิดจากกระแสความไม่พอใจของประชาชนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ฝ่ายรัฐจะพยายามเดินหน้าโครงการเพื่อ ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะให้ได้ก็ตามก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ แม้ว่า ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) เพื่อจัดการขยะชุมชนอย่างถูกต้องให้ได้โดยคำนึงถึงสุขภาพและชุมชนเป็นหลัก คสช.ได้มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพ แต่การจัดการขยะนั้นต้องการความเป็นเอกภาพ บูรณาการ มีการใช้อำนาจใน มาตรา 44 ปลดล็อกความยุ่งยากในการนำขยะชุมชนไปผลิตไฟฟ้า โดยไม่ติด พ.ร.บ.ร่วมทุน จากเดิม อปท.ไม่สามารถเข้าไปร่วมทุนกับเอกชนได้ จึงเป็นการ “รวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการขยะ” มาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย โดยไม่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมควบคุมมลพิษ หรือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (เดิมชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือเรียกง่ายๆ ว่า กรมโลกร้อน) หรือกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า เป็นแม่งาน
วิกฤตปัญหาพลังงานไทยคืออะไร
ปัญหาพลังงานไทย มีผู้สรุปวิกฤตพลังงานไทยว่า ภาพรวมปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมของไทยเหลือเฟือมาก มีกำลังการผลิตที่มาก เกินกว่าปริมาณการใช้ ทำให้ต้นทุนสูง เพราะมีการนำมาคิดเป็นต้นทุนผลักภาระให้ผู้บริโภคสูงกว่าความต้องการ (ดีมานด์) เป็น 10% ถือเป็นการดำเนินนโยบายในการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาด อันเป็นสาเหตุของค่าไฟฟ้าวันนี้มีราคาแพง รวมถึงพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ถือว่าเราโชคไม่ดีที่ต้องเจอสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นผลของการนำเข้าเป็นจำนวนมาก หากจะกลับมาพัฒนาในอ่าวไทยก็ต้องใช้เวลา เป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่า ค่าไฟฟ้าจะไม่ลดลงง่ายๆ ก็คือ ต้องใช้ของแพงไปก่อน จนกว่าจะสามารถนำพลังงานที่ผลิตจากในประเทศมาใช้ได้
ท่ามกลางข่าวโรงไฟฟ้าขยะชุมชนถูกคัดค้านต่อต้าน ทำเอากระทรวงมหาดไทย และวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมส่งสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร ต้องเดินหน้าทำงานตามแผน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ภายใต้วาระแห่งชาติในการบริหารจัดการขยะของประเทศ รวมทั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ต้องไปออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จนถึง แผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP 2018)
สาเหตุการคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ
ทำไมประชาชนในพื้นที่ต้องออกมาคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ ลองมาดูเหตุผลเดิมๆ ที่มีการกล่าวถึงกันมาตั้งแต่ปี 2558-2559 หรือก่อนหน้านั้น มีกระแสพลังงานชีวมวล Recycle Reuse เน้นไปที่โรงไฟฟ้าจากบ่อขยะ โดยนายทุนเอกชนที่มาใช้แก๊สมีเทนจากบ่อขยะสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า จะถูกต่อต้านจากชุมชน ถ้ามองมุมกลับบ่อขยะจากชุมชน หากไม่มีโรงไฟฟ้ามาตั้ง ขยะก็ไม่ถูกกำจัดและได้ใช้ประโยชน์ ก็จะเน่าเหม็นและส่งพิษอยู่เช่นนั้น แต่การเผาไหม้ หรือมลพิษต่างๆ จากการผลิตไฟฟ้า เช่น อากาศเสีย น้ำเสีย เสียงดัง ฯลฯ มันมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงเพียงใดหรือไม่ ดูเหมือนโรงไฟฟ้าถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ด้วยเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ชาวบ้านไม่พอใจ นอกจากนี้ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ด้วย การโซนนิ่งกลุ่มอุตสาหกรรม หรือการสัมปทานพื้นที่ทิ้งขยะ อาจจำเป็น เพื่อจำกัดขอบเขตขยะอุตสาหกรรม บรรดา NGO ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงเข้ามาสอดส่องช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ปัญหาคือจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า กับกลุ่มมวลชนในพื้นที่ที่ต่อต้าน และการนำของเหลือใช้มาทำประโยชน์ หรือจะทิ้งให้ถูกสุขลักษณะได้อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ญี่ปุ่นจัดการเรื่องนี้ได้ดี
ในกรณีของเอกชนที่ธุรกิจที่เป็นบ่อเกิดขยะมากมาย เช่น ฟาร์มหมูขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขี้หมูในฟาร์มเยอะเขาก็ทำกัน แม้เงินลงทุนค่อนข้างสูงก็ยอม มีประเด็นข้อโต้แย้งในมุมทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนยอมรับ เช่น (1) พลังงานขยะ พลังงานชีวมวล ย่อมสกปรกกว่าพลังงานฟอสซิลในรูปเดียวกันเสมอ (เทียบไม้ กับ ถ่านหิน หรือ Biogas กับ ก๊าซธรรมชาติ) (2) เหตุผลที่พลังงานขยะและพลังงานชีวมวล เป็นพลังงานที่สะอาด คือเป็นพลังงานจากสิ่งที่เราผลิตขึ้นเอง ไม่ได้ไปรบกวนธรรมชาติมาก (3) โรงไฟฟ้าพลังงานขยะและชีวมวลจะมี Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปากปล่องน้อย ปัจจุบันมีระบบการบำบัดไอเสียที่ดีกว่าแต่ก่อน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ที่ใช้ขยะร่วมกับลิกไนต์ช่วยในการเผา (Co-firing) ได้พลังงานและกำจัดขยะไปในตัว
ความสำเร็จของ กทม.ในการรับมือกับปริมาณขยะที่มากมาย
ข่าวปี 2559 การรับมือกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ จากปริมาณจัดเก็บขยะ กทม.ที่เฉลี่ยวันละ 9,900-10,000 ตัน กทม.การันตีปลอดภัยแน่นอน เตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าแห่งแรก กรองก๊าซพิษได้ 99.99 % จากการเปิดโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการกำจัดมูลฝอยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้า กทม.ลงนามสัญญาจ้างให้ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการโดยก่อสร้างเป็นเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน บนพื้นที่ภายในศูนย์จัดเก็บมูลฝอยหนองแขมซึ่งเป็นที่ดินของ กทม. โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานและบริหารจัดการ งบประมาณทั้งสิ้น 2,124 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการได้ต่อเนื่อง 20 ปี รวมทั้งได้รับผลพลอยได้จากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ 5 เมกะวัตต์ต่อวัน โดยโรงงานกำจัดขยะดังกล่าว จะใช้อุณหภูมิในการเผาขยะไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนจากการเผาจะกลายเป็นไอน้ำ ที่มีอุณหภูมิสูง และถูกป้อนสู่ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้กทม.จะเป็นผู้จ่ายค่ากำจัดขยะ 970 บาทต่อตัน ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างโรงกำจัดขยะดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2555 และได้เริ่มเดินระบบการเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 ซึ่งโรงงานกำจัดขยะดังกล่าว ถือเป็นโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยทั่วไปด้วยระบบเตาเผาเป็นครั้งแรก ของกทม. จากที่ผ่านมาได้มีการว่าจ้างเอกชนกำจัดโดยการนำไปฝังกลบมาโดยตลอด
ปัจจุบันมีข่าว ผู้ว่า กทม.ไปดูงานญี่ปุ่น “ถุงขยะฟุกุโอกะ” ต่างกับไทย เก็บไอเดียมาพัฒนา กทม. ศึกษาวิธีแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นับว่าเราต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า ไม่อยู่นิ่งเฉย เพราะ โลกทุกวันนี้เขาไปไกลเกินแล้ว การสร้างสรรค์ การนำแนวทางดีๆ นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการเป็นสิ่งจำเป็นให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบไม่หยุด นี่คือความเจริญของบ้านเมืองที่มาพร้อมกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นๆ เพราะขยะต้องกำจัด แต่การกำจัดขยะจะทำอย่างไรให้สมดุลในกลุ่ม stakeholders ทั้งหลาย ทั้งรัฐ เอกชน นายทุน และชาวบ้าน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขยะ ที่เป็นการร่วมทุนของเอกชนกับท้องถิ่น