ประกันสังคม คว้ารางวัลเลิศรัฐ ปี 66 ด้านผลงานคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า (Advance)
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยนางสาวนันทินี ทรัพย์ศิริ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมรับโล่รางวัลเลิศรัฐ “สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า (Advance)” จาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ในงานสัมมนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วยการนำเกณฑ์พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) มาดำเนินการเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กร และยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่สากลด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรภายในองค์กรจนก้าวไปสู่การได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาอย่างต่อเนื่อง
“ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สำนักงานประกันสังคมยังคงคุณภาพ โดยสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า (Advance) โดยรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการขององค์กร ซึ่งได้มาจากการหลอมรวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกคนภายในองค์กร เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ”
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า ในโอกาสที่สำนักงานประกันสังคมครบรอบ 33 ปีแห่งการดำเนินงาน และพร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 34 และปีต่อๆไป ที่พร้อมจะมุ่งพัฒนาองค์กรให้ได้รับรางวัลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ให้ครบทุกหมวด และยังคงยึดมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยระบบคุณภาพต่อไป โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการโดยนำเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพี่อสร้างนวัตกรรมภาครัฐในการยกระดับไปสู่ “ระบบราชการ 4.0” ที่มีการทำงานเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน (Open & Connected Government) ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government) มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government) โดยอาศัยปัจจัยหลักสำคัญคือ การสานพลังทุกภาคส่วน (Collaboration) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และการปรับเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (Digitization/Digitalization) ทั้งนี้ต้องทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลักเพื่อให้สามารถเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของลูกจ้าง ผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง