นายมูฮัมหมัด และนางอาซิยะ ลำส่าแหล๊ะ สองสามีภรรยาเกษตรกรบ้านเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา คิดต่างจากเกษตรกรทั่วไปปลูกผักสลัดในถุงพลาสติก ซึ่งใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย การจัดการง่ายไม่ยุ่งยาก ปลูกผักเพียง 40 วัน เก็บผลผลิตบริโภคและจำหน่ายได้ 

นายมูฮัมหมัด กล่าวว่า การปลูกผักสลัดของตน จะแตกต่างจากเกษตรกรทั่วไปที่ส่วนใหญ่ปลูกผักสลัดเป็นผักไฮโดรโปนิกส์ (ผักปลูกด้วยระบบน้ำ) หรือบางคนปลูกบนแคร่ผัก แต่การปลูกผักสลัดของตนนั้น จะสร้างโรงเรือนเล็กๆ และทำชั้นวาง จากวัสดุที่หาได้ในครัวเรือน เช่น ล้อยางรถยนต์ กระเบื้องหลังคาบ้านที่ชำรุดแล้ว มาทำเป็นชั้นวางถุงปลูกผัก  และตนใช้ถุงพลาสติกสีดำขนาด 6 นิ้ว เป็นภาชนะปลูก ซึ่งวัสดุที่ปลูกของตนนั้นจะไม่ใช้ดิน ใช้เพียงเศษหญ้าแห้งบด มูลสัตว์ และถ่านไม้ ผสมรวมกันและใส่ถุงพลาสติกสีดำ ทำให้ต้นทุนการผลิตน้อยมาก หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่มก่อนนำกล้าผักสลัดลงปลูก ถุงละ 1 ต้น รดน้ำตอนเช้าทุกวัน และเสริมด้วยการรดปุ๋ยน้ำหมักที่ผลิตขึ้นมาเอง เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับผัก และใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผักจะเจริญเติบโตได้ดี  ซึ่งการปลูกผักสลัดของตนนั้นไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีใดๆเลย ทำให้ผลผลิตปลอดภัยแน่นอน ทุกวันนี้ตนและภรรยาจะปลูกผักสลัดจำนวนหลากหลายชนิด ประกอบด้วย เรดโอ๊ค คอส ฟินเลย์ บัตเตอเฮด  ประมาณ 500 ถุง หรือ จำนวน 500 ต้น หลังปลูกประมาณ 40 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตบริโภคและจำหน่ายได้แล้ว  

โดยจะเก็บผักสลัดขายต้นละประมาณ 15 บาท หรือ 150 บาทต่อกิโลกรัม แต่ละรอบการปลูก ทำให้ครอบครัวมีรายได้กว่า 7,000 บาท หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จก็สามารถปลูกผักสลัดรอบใหม่ ลงในถุงเดิมได้เลย ซึ่งการปลูกผักสลัดด้วยวิธีการนี้ ใช้เพียงพื้นที่เล็กน้อย ต้นทุนก็ไม่สูง เพราะใช้เพียงเศษหญ้าสับ ปุ๋ยคอก และถ่านไม้เพียงเล็กน้อย การจัดการดูแลก็ง่าย สะดวก ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบรับประทานผัก มีพื้นที่และเวลาไม่มากนัก ก็สามารถปลูกผักสลัดไว้บริโภคได้ แถมจำหน่ายสร้างรายได้ดีอีกด้วย