ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

แม้ว่าโลกจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับหายนะจากระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว เมื่อสหรัฐฯตัดสินใจใช้ระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมะ และนางาซากิ ของญี่ปุ่น ทำให้เมืองทั้ง 2 ถล่มราบ ผู้คนล้มตายนับหมื่นนับแสน ทั้งโดยฉับพลัน และเสียชีวิตในระยะต่อมา ด้วยพิษจากกัมมันตภาพรังสี

แต่นั่นมันเป็นเวลานานมาแล้วนับจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1945 เกือบ 80 ปีมาแล้ว ผู้คนที่เคยพบเห็นหรือรับทราบข่าวโดยตรง ต่างก็เสียชีวิตลงจนเกือบหมดสิ้นแล้ว

คนรุ่นใหม่ต่อจากยุคนั้นจึงค่อยๆสูญความทรงจำ หรือความรู้สึกหวาดกลัวจากมหันตภัย นิวเคลียร์ลงไปจนไม่ค่อยรู้สึกหวาดกลัวมากนักในปัจจุบัน

สัญญาณชัดเจนก็เช่นการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิคของญี่ปุ่น แสดงว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมิได้มีความหวาดกลัวต่อมหันตภัยจากนิวเคลียร์ ทั้งๆที่เคยโดนถล่มด้วยนิวเคลียร์มาแล้ว จึงคาดหมายได้ว่าญี่ปุ่นคงจะมีอาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งในประเทศในอีกไม่นาน ไม่ว่าจะมาจากสหรัฐฯ หรือพัฒนาด้วยตนเอง

ในอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนถึงแนวโน้มของสงครามนิวเคลียร์ที่อาจอุบัติขึ้น ก็คือความเชื่อในหมู่นักการเมือง และประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักการเมืองในโลกตะวันตก อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจทำสงครามนิวเคลียร์ในรูปแบบของ PreEmtive Strike ซึ่งแน่นอนรัสเซียและจีนก็ต้องตอบโต้อย่างเท่าเทียมกัน ทว่านั่นคือหายนะของโลก

ด้วยเหตุนี้การดำเนินการในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่จะมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

ทางฝ่ายตะวันตกต้องการให้มีสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่ครอบคลุมไปถึงจีน แต่ทางฝ่ายรัสเซียต้องการให้สนธิสัญญานี้ครอบคลุมไปถึงอังกฤษและฝรั่งเศส แทนการตกลงกันระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียที่รับช่วงมาจากสหภาพโซเวียต

นอกจากนี้การที่สงครามในปัจจุบันเป็นสงครามพันทาง จึงมีโอกาสสูงมากที่จะขยายตัวเป็นสงครามทางกายภาพและเป็นสงครามนิวเคลียร์ในที่สุด ซึ่งทางรัสเซียเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวควรจะเน้นไปที่การตกลงหลายฝ่ายที่เป็นขั้นตอนชัดเจนในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ตามข้อตกลงที่เป็นทางการ แทนการแสดงออกเพียงวาทกรรม

ตัวอย่างเช่น รัสเซียต้องการให้มีการคำนึงถึงสถานภาพทางการเมืองและการทหาร และการพิจารณาถึงความมั่นคงแห่งรัฐ

รัสเซียมองว่า The Strategic Arms Control Agreement ที่มีอยู่ ไม่ตอบสนองต่อสถาพความเป็นจริง

ในขณะที่รัสเซียเองก็มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการในพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาวุธสมัยใหม่

เรื่องนี้หากเราจะพิจารณาในสภาพความเป็นจริง ทางฝ่ายสหรัฐฯก็มีกองกำลังเรือดำน้ำที่ติดอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก โดยกองเรือดำน้ำทั้งหมด 44 ลำ ติดอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าครึ่ง ในขณะที่รัสเซียก็พัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปหลายหัวรบซามัด ที่ติดหัวรบได้ถึง 15 หัวรบ และกระจายโจมตีเป้าหมายได้โดยการควบคุมแต่ละหัวรบ ซึ่งทั้ง 2 กรณี ยากต่อการควบคุมหรือจำกัดขอบเขตการโจมตี

ด้วยเหตุนี้การพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆทั้งด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากัน จึงเป็นแนวทางที่จะระงับยับยั้งการเผชิญหน้ากันด้วยสงครามนิวเคลียร์

ในกรณีของสงครามยูเครนที่ไต่ระดับขึ้นไปจนทำให้มีทิศทางของการบานปลายไปเป็นสงครามยุโรปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ทั้งนี้ฝรั่งเศส เยอรมนี หรืออิตาลี ก็คงหลีกหนีไม่พ้นไปจากสงครามนี้ในภาคพื้นทวีป แต่ดูเหมือนว่าเบอร์ลินจะลืมเลือนหายนะจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว เพราะมันเพิ่งจะยุติลงในปี ค.ศ.1945 ด้วยการพังทลายยับเยินของประเทศในยุโรปและชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทว่าสงครามนิวเคลียร์จะมีความสูญเสียมากกว่านี้และจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นเวลายาวนาน

การสร้างความรู้สึกทางอารมณ์ที่จะสร้างสันติภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้น ก่อนสงครามจะขยายตัวบานปลาย นั่นคือการริเริ่มในการเจรจาสันติภาพ โดยอาจเริ่มจากการหยุดยิง การสร้างเขตปลอดทหาร และมีการเจรจาสันติภาพในลำดับต่อไป ด้วยสันติภาพย่อมดีกว่าสงคราม

ส่วนแนวคิดว่าการทำสงครามเพื่อสันติภาพนั้น มันเป็นแนวคิดของผู้ที่คิดว่าตนเองจะชนะโดยไม่เสียหายมากนัก และจะเป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ภายหลังสงครามนั้น มันเป็นความคิดที่ล้าสมัย เพราะสงครามครั้งนี้มันยากที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายไปทั่วโลก

ที่ชัดเจนของการสร้างแนวคิดทำลายล้างที่จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ก็คือ สงครามยูเครน

ในฤดูใบไม้ผลิ เคียฟได้รับกระสุนยูเรเนียมเสื่อมค่าจากอังกฤษ ซึ่งยังคงมีกัมมันตภาพรังสี และจะสะสมในพื้นดินและแหล่งน้ำในยูเครนเป็นเวลานานได้

ทางการอังกฤษได้แถลงว่าจะจัดส่งกระสุนดังกล่าว 3,000 นัด ไปพร้อมกับรถถังหนักชาเลนเจอร์ 2

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อังกฤษ James Hippy ได้เน้นว่า อังกฤษไม่มีข้อผูกพันที่จะไปควบคุมผลที่เกิดขึ้นต่อการใช้อาวุธดังกล่าว โดยกองทัพยูเครน เพราะเราตั้งใจเพียงให้ยูเครนพ้นความขัดแย้งอย่างปลอดภัย รุ่งเรือง และเป็นอิสระ

ทว่าในความเป็นจริงกระสุนยูเรเนียมเหล่านี้ แม้การใช้ในการฝึกก็ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดจากผลกระทบด้านกัมมันตภาพรังสีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในสภาพสงครามเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุม และยุทธภูมิมันอยู่ในแผ่นดินยูเครน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวยูเครนและพืชผลปศุสัตว์ และผู้คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะชาวยูเครน

แม้ว่ากระสุนชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการเจาะเกราะได้ดีกว่ากระสุนปกติก็ตาม แต่จากข้อมูลการใช้ในสงครามอิรัก และอดีตยูโกสลาเวีย ทุกวันนี้ยังมีประชาชนชาวอิรักจำนวนมากต้อง ทนทุกข์ทรมานจากภัยของกัมมันตภาพรังสีอยู่

ที่สำคัญกระสุนชนิดนี้สามารถใช้ร่วมกับรถถัง Leopard2 และ Adrams ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้กระสุนชนิดนี้เช่นกัน

และถ้าฝ่ายนาโตสนับสนุนให้มีการใช้ รัสเซียก็มีศักยภาพและอาจใช้ในการตอบโต้เช่นกัน และอาจจะสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่า “ระเบิดสกปรก” “Dirty Bomb”

ดังนั้นการใช้กระสุนยูเรเนียม โดยการสนับสนุนของอังกฤษก็คือ การสร้างปัญหาให้กับสภาพแวดล้อมของยูเครนอย่างร้ายแรง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชาวยูเครน จึงมีนักวิเคราะห์บางท่านมองว่าตะวันตกต้องการทำให้เป็นปัญหาของรัสเซียในอนาคต เนื่องจากมองว่ายูเครนจะพ่ายแพ้

แต่ปัญหาสารปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีนี้มันจะไปแพร่กระจายในผลิตผลทางการเกษตรที่ยูเครนส่งออก หรืออาจแพร่กระจายไปโดย น้ำ หรือ น้ำฝน ถึงแม้ว่ามันจะมีปริมาณไม่เข้มข้น แต่สามารถสะสมในร่างกายมนุษย์และสัตว์ได้ ซึ่งยุโรปคือลูกค้ารายใหญ่ในเรื่องข้าวสาลีจากยูเครน และยุโรปได้จัดตั้งกองทุนประมาณ 1 พันล้านรูเบิลให้กับการช่วยเหลือเกษตรกรโปแลนด์ ในการที่ขอให้โปแลนด์เปิดเสรีนำเข้าผลิตภัณฑ์จากยูเครน หรือนี่จะเป็นกองทุนเพื่อช่วยให้เกษตรกรยูเครนได้ฟื้นฟูที่ดินของตน แต่มันจะกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีได้หรือไม่ ก็เป็นคำถามใหญ่ทีเดียว

กล่าวโดยสรุปการไม่คำนึงถึงพิษภัยจากนิวเคลียร์ของชนชั้นนำทั้งหลาย จะเป็นตัวสำคัญของฐานคิดที่จะทำให้การตัดสินใจทำสงครามนิวเคลียร์ง่ายดายขึ้น และนี่เองคืออันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อชาวโลก หากยังไม่มีการหาทางยับยั้งการเผชิญหน้าด้วยการเจรจาทางการทูต การประณีประนอม ไม่ว่าจะเป็นที่ยูเครน ที่ไต้หวัน หรือในทะเลจีนตอนใต้

สำหรับประเทศไทยคำถามสำหรับรัฐบาลคือถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ รัฐบาลจะทำอย่างไร หรือแล้วแต่ดวงครับ