เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 ห้องประชุมสภากทม.นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ รายละเอียดการปรับลด รวมถึงข้อสังเกตทั่วไป ทั้งนี้มีการอภิปรายในห้องประชุมถึงงบประมาณของสำนักการศึกษา โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณของสำนักการศึกษาใน “โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต” ในวงเงิน 219,339,000 บาท 

ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯได้ขอสงวนความเห็นไว้เพื่อขอให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัย ได้แก่ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ขอสงวนความเห็นในประเด็นโครงการการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต โดยขอให้ตัดเนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการปรับปรุง และให้ความเห็นว่าการเขียนโครงการต้องเขียนให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.เรื่องเส้นเลือดฝอย การประมาณการเพื่อทำโครงการควรวิเคราะห์ให้สมเหตุผล ซึ่งคำขอรับงบประมาณทุกกลุ่มเขตไม่มีการให้รายละเอียดแต่อย่างใด การปรับปรุงห้องเรียนโดยการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศอาจเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกวิธี ต้นทางการแก้ปัญหาคือการปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ควรปลูกฝังให้เด็กมีความรักและผูกพันกับต้นไม้ และอาจร่วมด้วยการงดกิจกรรมการแจ้ง และการหมั่นทำความสะอาด ทั้งนี้ความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเด็กไปไว้ในห้องปรับอากาศตลอดเวลาเหมาะสมและปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงงบประมาณค่าไฟที่จะต้องเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตามหากกรุงเทพมหานครจะเสนอโครงการพร้อมรูปแบบการติดตั้งโซล่าเซลล์ในคราวเดียวกันจะเหมาะสมมากกว่า 

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.ลาดกระบัง ซึ่งระบุว่า ยังมีคำถามว่า โครงการนี้ ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาหรือไม่ เพราะจริงๆ ที่ผ่านมา กทม.ก็ได้นำร่องทดลองทำห้องเรียนสู้ฝุ่นไปแล้ว 32 แห่ง เพิ่งดำเนินเสร็จเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเน้นงดกิจกรรมกลางแจ้ง ทำความสะอาดภายในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด และติดตั้งเครื่องอ่านค่าฝุ่น รวมทั้งรณรงค์การไม่เผา และปลูกต้นไม้ดักฝุ่น แต่ไม่มีอันไหนที่ระบุว่าติดแอร์ และใช้งบประมาณแค่ประมาณหมื่นกว่าบาทที่ขึ้นกับว่าใช้เครื่องกรองอากาศยี่ห้อไหน ก็น่าจะเอาแนวทางที่นำร่องไว้แล้วไปใช้ต่อ 

ส่วนงบปรับปรุงที่เสนอมาใหม่นี้ประมาณ 231 ล้านบาท แบ่งเป็นการติดแอร์ 2 เครื่อง ใน 1,743 ห้อง รวมเป็นเงิน 174,300,000 บาท แต่จากข้อมูลการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดลำปาง ใช้วิธีติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 2 เครื่อง ถ้าคิดที่ 1,743 ห้อง จะเป็นเงินเพียง 9,935,100 บาท ประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 164,364,900 บาทที่สำคัญพวกท่านหรือไม่ว่าบางเขต บางโรงเรียน นักเรียนอนุบาลมีแค่ 1-2 คน แล้วจะติดแอร์ขนาด 60,000 บีทียูเพื่ออะไร เลยมีคำถามว่าโครงการนี้ตอบโจทย์แก้ปัญหาหรือไม่ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ในทางตรงข้ามเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ มันคุ้มค่ากับงบประมาณหรือเปล่า

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงในที่ประชุมว่า เรื่องนี้อยู่ในนโยบายการจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง อายุ 1-6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมองจะสามารถพัฒนาได้ดีที่สุด หลายครั้งเราละเลยเด็กกลุ่มนี้ ประกอบกับการสอนให้เด็กเล็กใส่หน้ากากทำได้ยาก จึงเกิดแนวคิดทำเรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่น หลายครั้งที่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนและเห็นว่าเด็กอยู่ในห้องเรียนที่ร้อน ห้องของเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ การลงทุนงบประมาณกับเด็กถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่า อนาคตต้องมีการติดโซล่าเซลล์ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเด็กรวยหรือเด็กจนควรได้รับโอกาสในการเรียนในห้องเรียนปรับอากาศ

“การเห็นต่างเป็นเรื่องที่ดีและต้องขอบคุณส.ก.ที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของของสภากทม. ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของงบประมาณให้คุ้มค่า การเขียนรายละเอียดโครงการเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ขอให้เล็งเห็นประโยชน์สูงสุด” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว