เมื่อวันที่ 6 ก.ย.66 นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของ “ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility: MRF)” ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย พร้อมดำเนินการในรูปแบบ “ธุรกิจชุมชน” หรือ Community Enterprise ซึ่งก่อตั้งด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) วว. บพข. สถาบันพลาสติก เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง และจังหวัดระยอง ตั้งเป้าแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในแต่ละปีกว่า 1,000 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร “Plastic Circularity Community Enterprise: Material Recovery Facility (MRF)” นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรวมกว่า 20 ล้านบาท จากกองทุน Dow Business Impact Fund และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. โดยมีเทศบาลตำบลบ้านฉางเป็นผู้สนับสนุนและจัดหาพื้นที่ในการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าวซึ่งเป็นธุรกิจชุมชนที่จะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2567 เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการและรับผลประโยชน์ร่วมกัน
นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dow กล่าวว่า Dow เชื่อมั่นว่าพลาสติกมีคุณค่าเกินกว่าจะถูกทิ้งให้เป็นขยะ เพราะพลาสติกมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ๆ ยิ่งเราเพิ่มอัตราการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้มาก ก็ยิ่งช่วยลดคาร์บอนได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาขยะไปพร้อม ๆ กัน
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า Dow เล็งเห็นว่าการก่อตั้งศูนย์ MRF ต้นแบบนี้จะเกิดประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ 2) ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะพลาสติกและของเหลือทิ้งจากชุมชน จะถูกเก็บกลับมารีไซเคิลหรือนำมาใช้ประโยชน์ และ 3) ด้านสังคม สร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และยังพัฒนาเป็นต้นแบบซึ่งชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศและในภูมิภาคสามารถมาเรียนรู้และนำไปทำตามได้
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วว. มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ขยายผลความสำเร็จจากตาลเดี่ยวโมเดลสู่ภาคเอกชน เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วว.ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเครื่องจักรที่พัฒนาโดยคนไทย มาใช้ประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างเป็นรูปธรรม ลดการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ อีกทั้งยังต่อยอดและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศได้ในราคาที่จับต้องได้
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า บพข. ในฐานะองค์กรสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อร่วมจัดตั้งศูนย์ฯ และนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้ได้มากและนานที่สุด จึงช่วยลดขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยลงได้อย่างมหาศาล เป็นอีกหนึ่งทางออกหลักของการแก้ปัญหา climate change ได้ และนับเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ ผ่านความร่วมมือใน Value Chain แบบครบวงจร
นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับจังหวัดระยองได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดระยอง ก่อให้เกิดขยะและวัสดุเหลือใช้จำนวนมาก ผมเชื่อมั่นว่าศูนย์ MRF แห่งนี้จะช่วยสนับสนุนปฏิบัติการของจังหวัดตามนโยบายและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งจะเป็นหนึ่งในทางออกของปัญหาการจัดการขยะชุมชนและพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ ผมมั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลังสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน
ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility: MRF) นี้ ได้สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคของชุมชนที่เข้ามาร่วมดูแลตลอดการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน