ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.49-35.60 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนี ISM Services PMI ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้และเฟดก็อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งเรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทในช่วงนี้เช่นกัน

แม้ว่าดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าเฟดอาจเดินหน้าขึ้นต่อได้ หรือ เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น หากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า เนื่องจากดัชนี PMI ภาคการบริการในส่วนราคา และการจ้างงานต่างก็ปรับตัวขึ้นพอสมควร ซึ่งความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดได้กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.70% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.57% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนัก ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในระยะนี้ที่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังคงส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวลดลงต่อ (LVMH -3.6%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Shell +0.8%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางราคาน้ำมันดิบล่าสุด อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้ากว่าคาด ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 4.30%  อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว เนื่องจากระดับยีลด์ที่สูงขึ้น มี risk/reward ที่น่าสนใจและเรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ ก็อาจปรับตัวขึ้นไม่ได้มาก ยกเว้นว่าเฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ซึ่งเราคงประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวยังต่ำอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.9 จุด (กรอบ 104.6-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงสู่ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะตลาดแรงงาน และรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดว่าจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีกหรือไม่

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 1 ครั้ง เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation ได้

ทางฝั่งเอเชีย รายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) ของจีนในเดือนสิงหาคม ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ซึ่งหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เราประเมินว่า เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบจุดสูงสุดก่อนหน้าแถว 35.60 บาทต่อดอลลาร์ แต่จากการประเมินแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกที่น่าจะทยอยขายเงินดอลลาร์ไปสมควรแล้วในวันก่อนหน้า ทำให้มีความเสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนสำคัญ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก เนื่องจาก เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจยังไม่ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้ในเร็วนี้ (คาดว่าปัจจัยสำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวนและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง 

ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้ โดยเฉพาะในฝั่งบอนด์จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ทว่า ในส่วนของหุ้นนั้น เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะการปรับฐานของหุ้นไทยใกล้โซนแนวรับ ในการทยอยกลับเข้าซื้อได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเลือกทยอยซื้อหุ้นในกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนการบริโภคและการท่องเที่ยว

อนึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.70 บาท/ดอลลาร์