นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยแนวปฏิบัติการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ที่คาดว่า จะใช้เม็ดเงินราว 5.6 แสนล้านบาท จะช่วยให้เม็ดเงินดังกล่าวหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 4 รอบ เป็นเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 ให้เติบโตได้ราว 4-5% โดยนโยบายดังกล่าวคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ราวไตรมาสแรกของปี 2567

ขณะนี้ คนไทยขาดกำลังซื้อ เราจึงมีแนวนโยบายดังกล่าวออกมา โดยแจกเงินเข้ากระเป๋าให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่เรากำหนด ซึ่งเงินดังกล่าวจะจ่ายครั้งเดียว เมื่อนำไปใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะเป็นการ Shock เศรษฐกิจให้โงหัวขึ้นได้ทันที

“กลไกการแจกเงินดิจิทัลนั้น เราจะไม่มีการพิสูจน์ว่า ใครเป็นคนรวยหรือคนจน เราจะแจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เมื่อนำไปใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่เรากำหนด จะช่วยปั๊มหัวใจให้เศรษฐกิจผงกหัวขึ้น จากนั้น เมื่อภาครัฐมีนโยบายอื่นเข้ามา เช่น การสร้างรายได้ใหม่ ซอฟต์ พาวเวอร์ ลดราคาพลังงาน เพิ่มรายได้เกษตร 3 เท่า ก็จะทำให้ทุกคนยืนได้”

สำหรับแนวปฏิบัติการแจกเงินดิจิทัลนอกจากเราจะแจกให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแล้ว เรายังกำหนดแนวทางการใช้จ่าย อาทิ ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ โอนให้คนอื่นไม่ได้ ใช้จ่ายภายในบริเวณที่กำหนด เบื้องต้น กำหนดให้ใช้จ่ายในพื้นที่ ที่อยู่ในบัตรประชาชนไม่เกิน 4 กิโลเมตร ซึ่งกรณีนี้ อาจจะปรับเพิ่มระยะทางเพื่อความเหมาะสม ห้ามใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นอบายมุข ไม่สามารถนำไปใช้หนี้ได้ และใช้จ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน เป็นต้น

ทั้งนี้ กรณีที่อยู่ในพื้นที่ แต่ไม่สามารถไปใช้จ่ายเงินดิจิทัลดังกล่าวได้ เนื่องจาก ไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ตโฟน หรือ กรณีคนชรา หรือคนติดเตียง ที่ไม่สามารถไปใช้จ่ายเงินดังกล่าวได้ทางรัฐบาลจะมีแนวทางพิเศษออกมา เช่น การออกคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ลูกหลานได้นำเงินดังกล่าวไปใช้แทนได้ โดยคิวอาร์โค้ดจะออกโดยสถาบันการเงินของรัฐ และจะไม่มีการลงทะเบียนใดๆ

สำหรับเงินดิจิทัลดังกล่าวนั้น จะไม่ใช่ ดิจิทัล เคอร์เรนซี แต่เป็นสิทธิที่ใช้หน่วยนับเป็นเงินบาท โดยผู้รับการแจกเงินดังกล่าว จะใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันใหม่ที่ไม่ใช่แอปฯเป๋าตัง ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าว จะทำผ่านบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลคิดขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศหรือ ซูเปอร์แอป ซึ่งมีระบบซิเคียวริตี้ที่สูง สามารถกำหนดการใช้จ่ายผ่านระบบดังกล่าวได้หมด ซึ่งจะป้องกันระบบการรั่วไหลของเม็ดเงินดังกล่าวได้

“เงินดิจิทัลคือ สิทธิในการใช้จ่าย โดยเงินดิจิทัล 1 บาท ก็จะเท่ากับ เงิน 1 บาท หรือ 1 ต่อ 1 เท่ากับว่าประชาชนจะได้เงิน 1 หมื่นบาท ที่นำไปใช้จ่ายได้ โดยกลไกสุดท้าย หรือร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีสุดท้ายจะสามารถแลกเป็นเงินบาทได้จริง โดยผ่านระบบสถาบันการเงินของรัฐ”

ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายในโครงการนี้ เขากล่าวว่า จะนำมาจากงบประมาณของรัฐทั้งหมด การจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า และการหยุดจ่ายเงินในส่วนท็อปอัพเข้าในระบบสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น โดยการใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่มีระบบภาษี จะทำให้รัฐได้รับภาษีที่คิดเป็นเงินราว 3 หมื่นล้านบาทต่อรอบ ส่วนการนำเงินมาจากรัฐวิสาหกิจ หรือการขายหุ้นกองทุนรวมวายุภักษ์นั้น ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งยังไม่อยากไปจำกัดกฎเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว

ขณะนี้ ประชาชนต่างจังหวัดเฝ้ารอการแจกเงินดังกล่าว ด้วยการรวมกลุ่ม เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น รวมกลุ่ม 10 คน เพื่อนำไปสร้างโรงสีข้าว และเปิดบริการให้ชุมชนเข้ามาใช้ซึ่งเรามองว่า เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เพราะนโยบายรัฐบาล ต้องการให้เป็นกลไกสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่อาจเกิดการรั่วไหล เช่น การแลกเป็นเงินสด ทางรัฐบาลก็ได้ทราบถึงแนวทาง และหาแนวทางป้องกันไว้หมดแล้ว โดยบล็อกเชนที่เราสร้างขึ้นมา จะสามารถป้องกันการรั่วไหลในช่องทางต่างๆ ได้

 


#เงินดิจิทัล #แอปเป๋าตัง