วันที่ 7 ก.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...
แนวโน้ม BA.2.86 ตรวจพบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเกาหลีใต้รายงานเคสผู้ป่วยจาก BA.2.86 แล้วเช่นกัน
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่รายงานการตรวจพบก่อนหน้านี้ ก็มีเคสเพิ่มขึ้นชัดเจน อาทิ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิสราเอล รวมถึงกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียอย่างเดนมาร์ก สวีเดน
ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนเริ่มประเมินว่า ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการจากจีน สวีเดน และอเมริกา ที่ชี้ให้เห็นว่า BA.2.86 ดื้อต่อภูมิเพิ่มขึ้นกว่า XBB.1.5 ราว 2-3 เท่า และสมรรถนะการจับต่อตัวรับที่ผิวเซลล์ดูลดลง ซึ่งทำให้กังวลน้อยลงนั้น ในความเป็นจริงผลทางห้องทดลองอาจไม่สอดคล้องกันก็เป็นได้
เพราะไวรัสอาจมีการเปลี่ยนไปใช้กลไกอื่นในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ หรือมีสมรรถนะอื่นๆ ที่เรายังไม่ทราบ
แต่ที่แน่ๆ คือ ภาพทั่วโลกกำลังพบรายงานที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็นตามผลทดสอบสมรรถนะที่มีอยู่
การคิกออฟของ BA.2.86 เช่นนี้ ทั้งๆ ที่สายพันธุ์อื่นกำลังครองการระบาดอยู่ ย่อมสะท้อนถึงตัวสายพันธุ์นี้ที่ต้องมีดีพอตัว และมีแนวโน้มที่จะปรับสมรรถนะแกร่งขึ้น ดังที่เราเคยเห็นจาก XBB ในสิงคโปร์ แล้วพัฒนาเป็น XBB.1.5, XBB.1.16 และอื่นๆ ที่ครองการระบาดทั่วโลก
ข้อมูลผลกระทบจาก Long COVID มีมากขึ้นเช่นกัน ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยืดเยื้อกว่า 2 ปี และอีกไม่น้อยที่พบว่าเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ภูมิต่อต้านตนเอง ฯลฯ
ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ติดแต่ละครั้ง เสี่ยงป่วย ตาย และ Long COVID ครับ