สำหรับหนึ่งในนโยบายสร้างรายได้หลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ คือ การพลิกฟื้นการท่องเที่ยว เพราะถูกมองว่าจะเป็นหนทางที่จะนำเงินนอกมาปลุกเศรษฐกิจไทย ให้เงินไหลเข้าประเทศได้เร็วที่สุด ซึ่งในตอนนี้นักท่องเที่ยวกำลังไหลกลับเข้ามา จึงถือเป็นโอกาสดีที่ไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตีได้ตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่ ระบุประเทศไทยจะต้องกลับมามีรายได้จากการท่องเที่ยวจากเดิม 1.9 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2567 ให้ได้
รับฟังข้อเสนอแนะแนวทาง
ซึ่งนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้หารือภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยได้พบปะประธานสภาและผู้แทนสมาคมฯทั้ง 15 สมาคมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมบริการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมสายการบินประเทศไทย สมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจ สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง สมาคมมัคคุเทศก์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น สมาคมคีตะมวยไทย สมาคมนักบินว่าวแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย และสมาคมสปาไทย ร่วมรับประทานอาหารพูดคุยเพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะแนวทาง ความต้องการในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวไทย ก่อนนำเสนอ รัฐบาล ต่อไป
โดย ททท. จะได้กำหนดมาตรการส่งเสริมในระยะเร่งด่วน Quick win 3 เดือน เน้น กระตุ้นการตลาดส่งเสริมการขาย มาตรการปลดล็อกอุปสรรคการเดินทาง เสริมสร้างภาพลักษณ์ และมาตรการส่งเสริมระยะยาว หรือ Longterm ในการช่วยเหลือและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในการเตรียมความพร้อมตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ และกระแสความยั่งยืน โดยมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ 3.3 ล้านล้านในปี 2567
ส่งเสริมมาตรการรูปแบบต่างๆ
ด้าน นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาได้เร็วและดีที่สุด เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกเซ็กเมนต์ ดังนั้นภาครัฐต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานในรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านภาษี การส่งเสริมด้านการตลาด เป็นต้น เนื่องจากการทำมาตรฐานมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.นำเที่ยว เพราะปัจจุบันการจดทะเบียนเปิด-ปิดบริษัทนำเที่ยวง่ายเกินไป โดยในบางประเทศที่ทำกันอยู่จะระบุให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้จัดการบริษัทต้องมีประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยว เช่น เป็นมัคคุเทศก์มาไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือหากเป็นผู้ที่เคยอยู่ในองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือกำหนดให้ 1 คนจดทะเบียนเปิดบริษัทได้ 1 บริษัท เป็นต้น จึงทำให้ในประเทศไทยเวลานี้นอมินีอยู่เต็มตลาด ซึ่งในประเด็นนี้ถ้าควบคุมและป้องกันธุรกิจที่เป็นนอมินีได้ ถึงแม้ระยะแรกอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการบ้าง แต่มั่นใจว่าจะเป็นผลต่อดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาว
ทั้งนี้เป็นเพราะบทบาทของบริษัทนำเที่ยวเป็นเพียงตัวกลาง หรือเป็นนายหน้าให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เงินที่นักท่องเที่ยวซื้อแพ็กเกจทัวร์จะถูกกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ที่พัก, ร้านอาหาร, รถนำเที่ยว เป็นต้น เหลือเป็นรายได้เพียงแค่ประมาณ 5-8% เท่านั้น ไม่ใช่รายได้จากยอดขายที่เข้ามาทั้งหมด ดังนั้นการเกิดขึ้นของนอมินี จึงทำให้เกิดการศูญเสียของรายได้ที่ออกนอกประเทศไปเป็นจำนวนมาก
ด้าน นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ รองประธานกรรมการคนที่ 1 สมาคมสวนสนุกโลก กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด และ สมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดัดแปลงหรือสร้างขึ้น (man-made attraction) มากขึ้น โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน อาทิ สวนสนุก สถานบันเทิง ฯลฯ เนื่องจากปัจจุบันจุดขายหลักของการท่องเที่ยวไทยคือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ กระจายออกไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่กระจุกอยู่ในที่ใดที่หนึ่งการลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นจึงเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง อาจจะดึงมาจากต่างประเทศ หรือสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน สร้างเป็นแม็กเนตดึงดูดนักท่องเที่ยวทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกได้มากขึ้นนั้นเอง