สำหรับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือเป็นอันดีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งพื้นที่อีอีซีมีศักยภาพสูงมาก มีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้โยกย้ายมาเพื่ออยู่อาศัยมากขึ้น อีกทั้งยังมีพัทยาเป็นเมืองไมซ์ที่มีศักยภาพและความพร้อมในพื้นที่อีกด้วย โดยในอนาคตทีเส็บจะยกระดับพัทยาไมซ์ซิตี้ให้มีบทบาทครอบคลุมพื้นที่อีอีซีทั้งหมด เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ดังนั้นจึงได้ร่วมกันจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 กระตุ้นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา
ปูทางสู่งานใหญ่ในปี 2568
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บ ร่วมกับ สกพอ. พร้อมด้วยพันธมิตรภาคเอกชน จัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Destination Robotics, Automation and Beyond ขึ้น เพื่อแสดงนิทรรศการและงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในพื้นที่อีอีซี ที่จะนำไปสู่งานใหญ่ในปี 2568 คืองาน EEC Expo 2025
ด้าน ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทีเส็บผลักดันเส้นทางศักยภาพในภาคตะวันออก คือเมืองพัทยา ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ ในการยกระดับให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมในการจัดงาน ด้วยการพาชมเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่สามารถจัดโปรแกรมด้านอินเซนทีฟ กับคอร์เปอเรทมีทติ้ง หรือแม้กระทั่งคอนเวนชั่นได้
โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในนโยบายของภาครัฐ คือ อีอีซี ซึ่งตอนนี้จะเน้นในเรื่องของออโต้เมชั่น โรโบติกส์ และก็มีเรื่องของยานพาหนะที่เป็นอีเล็คทรอนิค เมดิคัล รวมไปถึงเรื่องของทางด้านเมดิคัล ทางด้านการแพทย์ ทางด้านเกษตร ไบโอเทคโนโลยี ซึ่งในย่านนี้มีอุตสาหกรรม และโรงงานที่มีไฮสคิลของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก
ในส่วนของ ออโต้เมชั่น พาร์ค เป็นส่วนที่ทางทีเส็บเริ่มที่จะให้เกิดการเชื่อมโยงขององค์ความรู้ที่ไม่ได้มีเพียงกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่จะมีกลุ่มคอร์เปอเรทที่จะมาเพิ่มการรับรู้ในเรื่องของออโต้เมชั่นได้ เป็นการเปิดช่องทางที่จะให้เห็นถึงอุตสาหกรรมและแนวโน้มในการเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะในส่วนของอุตสาหกรมไมซ์เองนั้นไม่ใช่มีเพียงมาดูงานชุมชนแต่เพียงอย่างเดียว หรือมาร่วมงานประชุมงานแสดงสินค้าแต่อย่างเดียว แต่สามารถขยายผลต่อยอด ทั้งในกลุ่มคอร์เปอเรทสามารถที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงศักยภาพของภาคตะวันออก หรืออีอีซีที่อยู่ใกล้กรุงเทพมากที่สุด จะเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณค่า โดยมีโรงงานหลายๆ โรงงานที่มุ่งเน้นไปในเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องของการไม่ใช้คน แต่เอาหุ่นยนต์มาควบคุมเพื่อลดปริมาณจำนวนคนประหยัดเวลา และอื่นๆ
ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ.กล่าวว่า ในพื้นที่อีอีซี มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการผลิต มีความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาที่เกิดขึ้น และมีการดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาในอีอีซี องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน จึงถือได้ว่า อีอีซีเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ประเทศไทยของทุกรัฐบาลในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศซึ่งติดกับดักรายได้ปานกลางมานานกว่าทศวรรษ
สำหรับ กิจกรรม EEC MICE FAM TRIP : เปิดประสบการณ์ไมซ์ เปิดมิติใหม่ในพื้นที่อีอีซี เพื่อสร้างประสบการณ์ไมซ์โดยเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานทางด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC เช่น EEC Automation Park ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ภายในมหาวิทยาลัยบูรพา การเข้าชมกิจการของ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผลิตภัณฑ์และบริการแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องทำความเย็น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆพร้อมทั้ง สัมผัสประสบการณ์พิเศษจากกิจกรรมไอเดียสร้างสรรค์เส้นทางสายไมซ์ หรือ Thailand 7 MICE Magnificent Themes เป็นต้น