ยะลา -ชาวเบตงวอนรัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการเปิดเส้นทางการบินสู่สนามบินเบตงอีกครั้ง ขณะที่อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง เผย สายการบิน แลนดาร์ช แอร์ไลน์  ให้ความสนใจเปิดทำการบินเส้นทาง หาดใหญ่ - เบตง  ในปีหน้า หลังมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

วันนี้ (6 ก.ย.66)ที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาเที่ยวชมท่าอากาศยานนานาชาติเบตง อย่างต่อเนื่อง พร้อมถ่ายรูปสถาปัตยกรรมของอาคารท่าอากาศยานนานาชาติเบตง และเช็คอินแลนด์มาร์กแห่งนี้ลงในโซเชียลมีเดีย  ซึ่งสนามบินเบตงได้เปิดให้บริการปกติ และยังมีเที่ยวบินส่วนบุคคล – เช่าเหมาลำ ขึ้น-ลง ต่อเนื่อง แม้สายการนกแอร์ได้ยุติทำการบินในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เบตง  แล้วก็ตาม  เนื่องจาก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนในการให้บริการ  ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ อีกทั้งต้นทุนการปฏิบัติการบินค่อนข้างสูง และผ่านมากว่า 1 ปี จนถึงขนาดนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสายการบินที่จะทำการบินสู่สนามบินเบตง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ชาวเบตงและนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่เรียกร้องหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมวอนให้รัฐบาลชุดใหม่ เร่งดำเนินการจัดหาสายการบิน มาบินสนามบินเบตง และเปิดทำการบิน เส้นทาง เบตง -กรุงเทพฯ , เบตง - หาดใหญ่ หรือ เบตง-ปีนัง เพื่อฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวให้สนามบินแห่งนี้ดำเนินกิจการต่อไปได้

น.ส.นพคุณ  อ่อนโยนชัย หนึ่งในผู้โดยสารเที่ยวบิน.ในแคมเปนเบตงหรอยแรง ซึ่งดำเนินการโดยสายการบินนกแอร์ เล่าว่า  ตนเคยร่วมไฟล์ทบินของสายการบินนกแอร์ ในวันแรก เบตง-ดอนเมือง ภายใต้แคมเปญ “เบตง บินตรง เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565  ที่ผ่านมา  ซึ่งแคมเปญดังกล่าว จัดเพียง  3 เดือนเท่านั้น  ในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือน กรกฎาคม 2565 ในราคาแพคเกจ ไป-กลับ 9,900 - 10,900 บาท หลังจากนั้นก็ไม่มีสายการบินเชิงพาณิชย์อื่นๆมาทำการบิน หรือลงจอดที่สนามบินเบตงอีกเลย มีเพียงเครื่องบินส่วนตัวของเอกชน หรือเครื่องบินของทางราชการ เท่านั้น แต่ก็จำนวนไม่มาก ซึ่งการเดินทาง เบตง ไปกรุงเทพฯ ระยะทางไกล และเดินทางลำบาก เมื่อก่อนต้องนั่งรถส่วนตัวออกจากเมืองเบตง ไป สนามบินหาดใหญ่ ใช้เวลา เกือบ 4-5 ชม และนั่งเครื่องอีก 1 ชม ครึ่ง กว่าจะถึงกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลานานมาก  แต่พอได้ร่วมไฟล์ทบินปีที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียง 2 ชม.ก็ถึงกรุงเทพฯ แล้ว  ตนจึงอยากให้หน่วยงานในพื้นที่ หรือรัฐบาลชุดใหม่ ที่เข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  หรือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการ ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสายการบินเชิงพาณิชย์ ที่จะทำการบินสู่สนามบินเบตง เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งชาวเบตงส่วนใหญ่ไม่ได้อยากมีแต่สนามบินที่ให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเซลฟี่เท่านั้น  แต่อยากให้มีเครื่องบินที่ใช้ได้จริง มีเที่ยวบินมาลงได้ด้วย และราคาย่อมเยา ไป-กลับ 5,000 – 6,000 บาท ไม่ใช่แตะหลักหมื่น กับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ และหากกลับมาบินได้อีกครั้งจะเป้นการกระตุ้น รองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ สร้างโอกาส สร้างรายได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของสายการบินที่จะทำการบินมายังสนามบินเบตง ขณะนี้ได้มีสายการบิน แลนดาร์ช แอร์ไลน์  (Landarch Airlines)  ที่ให้ความสนใจจะทำการบินจากหาดใหญ่ - เบตง   ซึ่งขณะกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  และมีแผนเริ่มให้บริการในประเทศไทยภายในปี 2567  ในช่วงแรกสายการบินมีแผนตั้งฐานการบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่   โดย ระยะแรกดำเนินการ เปิด 3 เส้นทางบิน คือ หาดใหญ่-เบตง (ยะลา), หาดใหญ่-นราธิวาส และหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี และครึ่งปีหลังกับเส้นทางหาดใหญ่นครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง  ก่อนที่จะขยายเครือข่ายการบินต่างประเทศสู่มาเลเซีย เป็นลำดับถัดไป สำหรับเครื่องบินที่จะนำมาให้บริการ เป็นเครื่องบินใบพัดแบบ Cessna 208B Grand Caravan Ex  มีที่นั่ง 10-14 ที่นั่ง   ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างการคมนาคมให้ครอบคลุม ความต้องการของผู้โดยสารภายในประเทศ อันจะทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง กล่าวอีกว่า  ณ ตอนนี้ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง ไม่ได้คาดหวังกับเส้นทางการบิน กรุงเทพฯ-เบตง แล้ว เพราะมีต้นทุนสูง จะทำให้ตั๋วเครื่องบินแพง ส่วนเรื่องการขยายรันเวย์สนามบินขนาด 1,800 เมตร  และเตรียมจะขยายความยาวเป็น 2,500 เมตร นั้น ยังไม่ผ่านทาง อีไอเอ ในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ได้ตีกลับ ตีกลับ ให้เพิ่มเติมรายละเอียด เรื่องเขตการบิน และสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำท่วม เป็นต้น  และคงต้องใช้เวลาอีกนาน คาดจะเปิดให้บริการได้ ในปี 2571 จึงได้มีการหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และรองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ช่วยผลักดันให้มีเครื่องบินขนาดเล็ก บินจากหาดใหญ่-เบตง เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยกับเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และใช้เวลานานในการเดินทาง 4-5 ชม.จึงพร้อมที่จะนั่งเครื่องบินเล็ก  ที่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก็ถึงเบตงแล้ว ในส่วนของสถิติของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่เดินทางยัง อ.เบตง จ.ยะลา ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2566 มีนักท่องเที่ยวราว 5 แสนคน และในส่วนครึ่งปีหลังคาดจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 1 ล้าน คน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากอำเภอเบตงมีอากาศดี อาหารเด่น เหมาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

สำหรับท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุดลำดับที่ 29 ของ ของกรมท่าอากาศยาน ที่มีสโลแกนว่า “สวรรค์บนดิน สนามบินเบตง”  ได้เริ่มก่อสร้างปี 59 วงเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 62 มีความยาวรันเวย์ขนาด 1,800 เมตร  และเตรียมจะขยายความยาวเป็น 2,500 เมตร เพิ่มขึ้น 700 เมตร โดยขยายไปทางทิศตะวันตก 375 เมตร และทางทิศตะวันออก 325 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 180 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737 จากปัจจุบันรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72 นอกจากนี้จะขยายลานจอดอากาศยานจากเดิมที่มีขนาด 94×180 เมตร เป็นขนาด 94×240 เมตร ทำให้สามารถจอดอากาศยานขนาด 180 ที่นั่ง ได้พร้อมกัน 3 ลำ  โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มี.ค.65 ที่ผ่านมา  ซึ่งคาดว่าสนามบินแห่งนี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตง และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมรองรับตลาดการท่องเที่ยว และการพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนแผนรองรับนักท่องเที่ยวระยะยาว ตามกรอบการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้เมืองเบตงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค และก้าวสู่เมืองท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับอาเซียน และระดับสากล 

สำหรับสนามบินเบตง จังหวัดยะลา เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี คือตั้งแต่ 2559 – 2561 เพื่อจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตง และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมรองรับตลาดการท่องเที่ยว และการพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ