วันที่ 6 กันยายน 2566 นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 กรุงเทพมหานคร แถลงข่าวก่อนการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 จำนวนทั้งสิ้น 90,789,477,630 บาท ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ได้ตัดลดงบประมาณลง จำนวน 7,957,081,640 บาท โดยสำนักที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา จำนวน 10,199,547,439 บาท สำนักการระบายน้ำ จำนวน 7,860,495,076 บาท และสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 7,673,180,800 บาท ส่วนสำนักที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 71,184,800 บาท สำนักงบประมาณ จำนวน 85,596,510 บาท สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 189,471,700 บาท

 

สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 774,356,920 บาทสำนักงานเขตหนองจอก จำนวน 754,150,533 บาท และสำนักงานเจตจตุจักร จำนวน 701,898,570 บาท สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 237,412,410 บาท สำนักงานเขตบางรัก จำนวน 251,616,775 บาท และ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 275,383,900 บาท

 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า งบประมาณที่เป็นห่วงที่สุดคือ โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 464 คันระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2566-2573 ด้วยงบประมาณทั้งหมด 2,372,339,200 บาท เนื่องจากใกล้หมดสัญญาจ้างเดิม เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีรถเก็บมูลฝอยต่อเนื่องในปี 2567 คณะกรรมการฯจึงมีความเห็นว่าควรเร่งจัดจ้างเช่ารถเก็บขนมูลฝอยให้ทันเวลา

 

โดยสาเหตุที่ยังไม่มีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการจัดจ้าง เนื่องจากผู้บริหารกทม.มีแนวคิดนำรถระบบพลังงานไฟฟ้ามาใช้เก็บขนมูลฝอย แทนข้อบัญญัติเดิมซึ่งระบุเป็นรถระบบใช้พลังงานน้ำมัน ซึ่งตนมองว่าจะทำให้ล่าช้าไม่ทันกำหนดสัญญาที่กำลังจะหมดลงในอีกประมาณ 10 เดือนข้างหน้า รวมถึง มองว่ากรุงเทพมหานครยังไม่พร้อมนำระบบรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้เก็บขนมูลฝอย เนื่องจากต้องเพิ่มระบบจ่ายไฟเติมพลังงานตามจุดต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม โดยการดำเนินการติดตั้งระบบรูปแบบใหม่อาจทำให้ กทม.จัดเก็บขยะไม่ทันและมีขยะตกค้างในปี 2567 ทั้งนี้ การนำรถระบบไฟฟ้ามาใช้ควรผ่านการทดลองให้แน่นอนก่อน เนื่องจากข้าราชการไม่กล้าเขียนรายละเอียดจัดซื้อจัดจ้าง เพราะยังไม่เคยทดลองใช้จึงไม่เข้าใจระบบดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และการดูแลเรื่องไข้เลือดออก โดยกองควบคุมโรค สำนักอนามัยซึ่งของบประมาณมาราว 1 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชนทั้ง 50 เขต จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ วันที่ 31 ม.ค.-26 ส.ค.66 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 5,448 ราย เสียชีวิต 5 ราย และเชื่อว่าอาจมีที่สำรวจไม่พบรวมแล้วกว่า 1 หมื่นราย จึงขอให้ผู้บริหารแปรญัตติเรื่องนี้กลับมาเพื่อของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากพบผู้ป่วยไข้เลือดออกหลายเขต เช่น เขตสะพานสูง 178 คน เขตจตุจักร 264 คน เขตหนองจอก 304 คน จากการตรวจสอบสัดส่วนจำนวนงบประมาณที่ขอและจำนวนผู้ป่วยกว่า 2 พันชุมชนไม่สอดคล้องกัน คณะกรรมการฯจึงขอให้กทม.เร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้