วันที่ 6 ก.ย.2566 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่ เกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า ขณะนี้สังคมกำลังจับตามอง ทางพรรคก้าวไกลจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งตามพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ได้ให้อำนาจกองทัพสามารถบังคับคนที่ไม่อยากเป็นทหารเข้าเป็นทหารแม้ในยามที่ไม่มีสงคราม ทำให้มีช่องว่าง เพราะตลอด10ปีที่ผ่านมายอดผู้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารเฉลี่ย30,000 คนต่อปี น้อยกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพต้องการคือ90,000คนต่อปี ทำให้วันนี้ทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันถึงราคาที่สังคมต้องจ่าย เมื่อมีการบังคับคนเข้าไปเกณฑ์ทหาร กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือการทำตามความฝัน การใช้เวลากับครอบครัว ไปจนถึงการดึงทรัพยากรมนุษย์ออกจากตลาดแรงงานในระดับสังคม

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นถ้าเราอยากจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารให้สำเร็จโดยไม่ให้กระทบภารกิจการรักษาความมั่นคง คือต้องลดยอดกำลังพลที่กองทัพต้องการ หรือลดยอดผีคือชื่ออยู่ในทะเบียนแต่ตัวไม่อยู่ในค่ายทหาร ลดทหารรับใช้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคง ทบทวนงานบางอย่างตามบริบทภัยความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปขณะเดียวกันต้องเพิ่มยอดสมัครใจในการเกณฑ์ทหาร ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร ทั้งค่าตอบแทน ความปลอดภัย โอกาสในความก้าวหน้าของอาชีพ

“การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร มี2แบบคือ 1.ลุ้นยกเลิกแบบปีต่อปี ค่อยๆลดช่องว่างกำลังพล ตามแผนของกระทรวงกลาโหมปี 2566-70 ที่กำลังดำเนินการอยู่ และ2.ที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือเลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ทหาร คือการแก้ไขพ.ร.บ.รับราชการทหาร ปี2497 ทำให้กองทัพไม่มีอำนาจ ในการบังคับคนเป็นทหาร ในช่วงไม่มีสงคราม เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเราจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารสำเร็จในกรอบระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะสามารถกำหนดได้ในกฎหมาย ทำให้ผู้ที่เกณฑ์ทหารไม่ต้องมาลุ้นปีต่อปีเหมือนการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารแบบแรก ขณะเดียวกันจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้กองทัพปฏิรูปตัวเอง และให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร ก็คงต้องจับตาดูการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่าแนวทางการยกเลิกฯจะเป็นอย่างไร” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการชี้แจงของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เกี่ยวกับกับเรื่องนี้ ดูจะเป็นแนวทางการยกเลิกฯแบบที่1. ถ้าในที่สุดออกมาเป็นแบบที่1. ก็เพียงแต่หวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาว่าจะลดกำลังในแต่ละปีอย่างไรจนเป็นศูนย์ แต่ถ้าเป็นแบบที่ 2. พรรคก้าวไกลยินดีร่วมมือกับรัฐบาล เพราะเราได้ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหารเข้าสู่สภาฯแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่เซ็นรับรองให้สามารถถูกบรรจุในสภาฯแล้วมีการถกเถียงกัน

เมื่อถามว่านายสุทิน ออกมาระบุยืนยันในเดือนเม.ย.ปีหน้า จะไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้ว นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นแบบที่1. มันจะอยู่ในสภาวะที่ต้องลุ้นปีต่อปี ตัวเลขแรกในยอดกำลังพลที่จะลดในแต่ละปี ก็ยังไม่ได้มีการสื่อสารออกมา ถึงแม้ปีหน้าจะสามารถลดให้เหลือศูนย์ได้จริง แต่คงต้องมาลุ้นในปีต่อไปอีกว่าจะยอดกองทัพมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการรับประกันให้เยาวชนที่ต้องวางแผนชีวิตว่าจะมีความเสี่ยงในการรับการเกณฑ์ทหารหรือไม่

“การปฏิรูปกองทัพต้องมีไอเดียมาจากรัฐบาลพลเรือนที่เป็นกรอบการดำเนินการด้วย ไม่ใช่แค่ปล่อยให้องค์กรนั้นๆทำแผนที่ตัวเองคิดมาเพียงอย่างเดียว อย่างที่ผ่านมาอาจมีกฎหมายบางส่วนที่ทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือพลเรือนเช่น พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า การตัดสินใจหลายๆอย่างเกี่ยวกับงบประมาณ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของรมว.กลาโหม ที่เป็นตัวแทนของพลเรือน แต่กลับไปอยู่ในอำนาจของสภากลาโหมที่ประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก ทำให้ขัดหลักที่ว่ารัฐบาลพลเรือนควรอยู่เหนือกองทัพ” นายพริษฐ์ กล่าว