วันที่ 6 กันยายน 2566 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าจับกุมนายวิโรจน์ อิริยะโพธิ์งาม อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง ตามความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต" พร้อมของกลางเงินสด 5 หมื่นบาท ในห้องทำงานฝ่ายโยธา สำนักงานเขตลาดกระบัง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามคำสั่งกรุงเทพมกานคร 2748/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และ คำสั่งกรุงเทพมหานคร 2749/2566 ให้ข้าราชการรายดังกล่าวไปช่วยราชการที่กองแผนงานและสาธารณูปโภค สำนักการโยธา (สนย.) ซึ่งเป็นกองที่ไม่ได้สัมผัสกับประชาชน นอกจากนี้ ในวันนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร จะลงคำสั่ง พักราชการข้าราชการรายดังกล่าว ตามมาตรา 85 กฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กรุงเทพมหานครและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) พ.ศ.2565 โดยกำหนดเวลาไม่เกิน 120 วันและยืดระยะเวลาไม่เกิน 60 วันต่อครั้ง

 

นายเฉลิมพล กล่าวว่า นายวิโรจน์ เดิมทีอยู่เขตห้วยขวาง จากนั้นในปี 49 -54 ได้ย้ายมาเขตลาดกระบัง ต่อมาปี 60 ได้ย้ายกลับมาอยู่เขตห้วยขวาง ปี 61 ย้ายไปเขตลาดกระบังอีก ต่อมาปี 64 ย้ายไปเขตวังทองหลาง ปี 65 จนถึงปัจจุบัน กลับมาอยู่เขตลาดกระบัง ในตำแหน่งนายช่างโยธาอาวุโส โดยตั้งข้อสังเกตว่า กรณีเจ้าหน้าที่บริหารงานที่เดิมเป็นเวลานานหรือย้ายไปแล้วกลับมาอาจเกิดความชำนาญส่งผลต่อการทุจริตได้ จึงเตรียมเสนอผู้บริหารพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา ป้องกัน การทุจริตในลักษณะนี้ โดยเฉพาะการอยู่นาน และโยกย้าย รวมถึงระบบการขออนุญาต ที่ต้องมีการปรับแก้ไข ไม่ให้ใช้ดุลยพินิจ และเจอกับผู้ขออนุญาตเพียงสองคนต้องมีทีมช่วยพิจารณาในการดูแลเรื่องการเซ็นใบอนุญาตด้วย

 

ด้าน พลตำรวจเอกอดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ประชาชนมีการร้องเรียนผ่าน ปปท.โดยโทรสายด่วน 1206 และช่องทางหน่วยงานปราบปรามทุจริตแห่งอื่น ซึ่งทาง กทม.มีสายด่วน 1555 แต่ประชาชนไม่เชื่อใจในการติดต่อทางนี้ กทม.จึงมีการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง นอกจากนี้ กทม.ยังมีทราฟฟี่ฟองดูว์ในการรับแจ้งเรื่องราวทุจริต เป็นระบบปกปิดข้อมูลของผู้แจ้ง ซึ่งจะส่งเข้า ศปท.กทม.โดยตรง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลตนเอง

 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางเปลี่ยนกฎระเบียบการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ และเอาผิดกับผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกับตำรวจ ที่ปล่อยให้มีการปล่อยปละละเลย เนื่องจากสงสัยว่า หัวหน้าฝ่ายโยธามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ทราบขั้นตอนให้บริการประชาชนหรือไม่ ทำไมจึงใช้ระยะเวลาพิจารณาอนุญาตมากเกินไป และมีการแนะนำประชาชนอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมีการบันทึกเลขรับหนังสือ และต้องตอบกลับหนังสือให้ประชาชนทราบเหตุผล หากล่าช้าเพราะความบกพร่องให้ดำเนินการทางวินัย หากล่าช้าเพราะเรียกรับผลประโยชน์ให้ดำเนินคดีอาญา ซึ่ง ผอ.เขตติดตามดูแล

 

ทั้งนี้ อาจเพิ่มการบันทึกหนังสือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ ผอ.เขตได้ตรวจสอบว่าประชาชนมีการขออนุญาตอะไรบ้าง เมื่อเวลาครบกำหนดระบบจะมีการแจ้งเตือนว่ามีการเซ็นอนุญาต ถ้ามีความล่าช้าต้องมีการตรวจสอบในแต่ละฝ่าย ซึ่งจะปิดช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดคือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการ เรื่องการของครองตน ครองงาน ใช้หลักคุณธรรมในการทำงาน ยึดถือประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจากการตรวจสอบ ปัจจุบันผู้ถูกดำเนินคดีทุจริตมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งใกล้วัยเกษียณ ซึ่งควรจะเข้าสู่การเตรียมพักผ่อนไม่ใช่มาต่อสู้ดำเนินคดี หรือมาเป็นนักโทษ

 

สำหรับ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโยธา 40 เรื่อง แบ่งเป็นเรียกรับสินบนการขอใบอนุญาต 12 เรื่อง ใน 10 เขต / การก่อสร้างต่อเติมรื้อถอนอาคารที่ผิดกฎหมาย แต่หน่วยงานดำเนินการ ล่าช้า 7 เรื่อง / ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลที่สาธารณะ 2 เรื่อง / การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ได้บรรจุ 1 เรื่อง / การนำทรัพย์สินทางราชการไปใช้ส่วนตัว 1 เรื่อง และ เรื่องอื่นๆ เช่น ปรับปรุงพื้นถนนบริเวณทางลอดอุโมงค์ล่าช้าป้ายขนาดใหญ่ยื่นนอกอาคาร,การลงชื่อเข้างานแทนกัน และทอดทิ้งหน้าที่ราชการ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสืบข้อเท็จจริง หากเข้าข่ายทุจริต จึงจะส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หากไม่เข้าข่ายทุจริต แต่มีความผิดทางวินัย จึงจะเสนอผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ดำเนินการต่อไปรวมถึง ข้อมูลที่แจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ ตั้งแต่ ก.พ. - ส.ค.66 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 206 เรื่องเกี่ยวกับเรื่องของโยธา 40 เรื่อง / เทศกิจ 39 เรื่อง / รักษาความสะอาด 36 เรื่อง และเรื่องอื่นๆที่ไม่ทราบสายงานอีก32 เรื่อง ซึ่ง กทม.กำลังเร่งหาข้อเท็จจริง และส่งเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป