วันที่​ 6  ก.ย.2566​ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรมได้โพสต์บนเพจเฟสบุ๊คว่า​ 

ครั้งแรกที่ซึมซาบบรรยากาศการประชุมพรรคการเมืองเพื่อแบ่งสรรตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ สภาผู้แทนราษฏร ทั้ง 35 กมธ. น่าสนใจดีครับ ลองทายกันครับ แต่ละพรรคต้องการ กมธ. ไหน และเมิน กมธ. ไหนบ้าง

จากสูตรคำนวนจำนวนตำแหน่ง “ประธาน” กมธ.ทั้ง 35 คณะนั้น ชัดเจนว่าผู้ได้รับผลกระทบอยู่ 2 พรรค คือ ก้าวไกล (10 กมธ.) กับรวมไทยสร้างชาติ (3 กมธ.) เพราะการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จ.ระยอง หากก้าวไกลเจ้าของพื้นที่ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 10 ก.ย. นี้ ก้าวไกลจะได้เพิ่มเป็น 11 ตำแหน่งและ รทสช.จะลดลงเหลือ 2 กมธ.

“เราควรคิดถึง (คำนวนสัดส่วน) จำนวน สส. ณ เวลาปัจจุบัน คือ 499 เราไม่ควรคิดถึงจำนวน สส. ที่จะมีในอนาคต” นี่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจมีมติการประชุมเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา และให้พรรคก้าวไกลคงไว้เหลือตำแหน่ง “ประธาน” แค่ 10 กมธ.และ รวมไทยสร้างชาติ ที่ ณ ปัจจุบันมีตำแหน่ง “ประธาน” 3 กมธ.

คือจริงๆ ดูแล้วมันน่าจะง่าย แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าตัวแปรผกผันเพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นผลให้กระทบต่อเศษส่วนของสิทธิในการเป็นประธานกรรมาธิการ แถมหากในอนาคตมี สส. ท่านใดจากพรรคใดโดนใบเหลืองใบแดงอีก ที่คาดว่ามีจากการจ่อมาแล้วของ กกต. เกือบ 70 คน อาจมีผลต่อไม่ว่าตำแหน่ง “ประธาน” และ “กรรมาธิการ” ด้วยซ้ำ

แต่วันนี้ได้ข้อสรุปที่ดีขึ้นครับว่า “หากในอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน สส. ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการคำนวนตำแหน่งประธานและรวมถึงกรรมาธิการ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งประจำตัว สส.ด้วย เราจะสามารถมาหารือกันได้อีกในความเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานและกรรมาธิการ หากจำนวน สส.ได้มีการเปลี่ยนแปลงและกระทบต่อสัดส่วนต่างๆ ได้”

พรรคเล็กที่มีที่นั่งไม่ถึง 9 ที่นั่งใน สส. ก็ไม่เดือดร้อนอะไรเพราะยังไงเราไม่ได้ตำแหน่ง “ประธาน” กมธ. อยู่แล้วตามสูตรคำนวนด้วย จำนวน สส. ของแต่ละพรรค คูณด้วย จำนวน กมธ.ทั้งหมด (35) และหารด้วย จำนวน 499 (จำนวน สส. ทั้งหมดในสภา ณ ปัจจุบัน เพราะ สส. ของพรรคก้าวไกลลาออก และจะมีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 10 ก.ย. นี้)

แม้ว่าไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเขา แต่ที่นั่งฟังมา 2 วัน ขอบอกครับเห็นใจทุกพรรคจริงๆ ทุกคนอยากให้ กมธ.เดินหน้าโดยเร็ว ทุกพรรคอยากทำงานแล้ว แถมยังมีตัวล็อคเรื่องงบประมาณที่ กมธ.จำเป็นต้องเร่งเสนอแผนงานโครงการต่างๆ ที่ยังมีงบประมาณเหลืออยู่อีกประมาณครึ่งหนึ่ง ของ กมธ.ชุดก่อนหน้านี้ หากไม่สามารถเสนอโครงการแผนงานได้ทันภายในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกันยายนนี้ จำเป็นต้องคืนงบไป ซึ่งผมได้มีโอกาสคุยกับท่านที่ปรึกษากฎหมายสภาผู้แทนราษฏรที่บังเอิญเจอกันครับ

นี่จึงเป็นที่มาของความพยายามของทุกพรรคที่จะเร่งแบ่งสรรปันส่วนตำแหน่งประธาน กมธ.กันให้เหมาะและเร็ว ไม่งั้นต้องคืนเงิน แต่ท่านที่ปรึกษาฯ ที่ผมได้พบ ท่านให้คำแนะนำว่าถึงแม้ต้องคืนเงินแต่สามารถร้องของบล่วงหน้ามาใช้ก่อนได้ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ หากมันเป็น worst case scenario เสียแล้วก็คงจำเป็นต้องทำไป

แต่เข้าใจทุกคนคงไม่อยากคืนเงินที่มีอยู่แล้วหรอก ผมก็คิดเช่นนั้นเหมือนกันครับ อีกเรื่องคือ ผมมองด้วยใจเป็นกลางนะครับ ผมเชื่อมั่นว่าทุกพรรคการเมืองเวลามาทำ กมธ.แล้วก็จะทำงานเต็มที่ครับ ไม่แบ่งพรรคไหนและฝ่ายใด อันนี้เป็นที่ประจักษ์อยู่

สิ่งที่ผมเห็น สิ่งที่ผมสังเกตคือตำแหน่งประธาน กมธ.ทั้ง 35 คณะนี้ หากแบ่งเป็นว่าที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านแล้ว รัฐบาลมีถึง 23 กมธ.(พท.10 ภท.5 พปชร.3 รทสช.3 ชทพ. 1 และ ปชช.1 ) 

และฝ่ายค้าน 12 กมธ.(กก.10 และ ปชป.2 ) ผมดูอย่างไม่มีอคตินะครับ ก้าวไกล ดูเหมือนถูกโดดเดี่ยว เพราะ 7 กมธ.มีซ้ำกับพรรคอื่นๆ แต่พรรคอื่นๆ ไม่มีซ้ำอะไรใดๆ กันเลย ผมไม่แน่ใจว่ามีการพูดคุยประสานอะไรใดๆ กันหรือไม่ แต่เท่าที่สังเกตทุกพรรคคงคุยกัน ยกเว้นกับก้าวไกลและ/หรือก้าวไกลไม่ได้คุยก่อน

อย่างไรก็ตามการสร้างรากฐานระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ กมธ.ควรทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล การทำงานของรัฐบาล ดังนั้น ฝ่ายค้านควรเป็นประธาน กมธ.ที่ดูแลการทำหน้าที่ของกระทรวงหลักๆ อาธิ งบประมาณ กฏหมาย ยุติธรรม สิทธิมนุษยชน แรงงาน ฯลฯ

ก็ได้แต่หวังครับว่าทั้ง 7 กมธ.ที่มีความประสงค์ทับซ้อนกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับอื่นๆ อีก 4 พรรคจะสามารถลุล่วงไปด้วยดี และอีก 7 กมธ.ที่ไม่มีผู้ใดประสงค์จะเป็นประธาน กมธ.จะสามารถลงเอยกันอย่างไร

พรรคเล็กๆ คงได้แต่ชะเง้อมองพรรคที่มีความชอบธรรมในการตกลงตำแหน่งประธานคณะกรรมธิการให้ลงตัวครับ เราพร้อมสนับสนุนตามศักยภาพที่พวกเรามีอย่างเต็มที่ โดยไม่แบ่งพรรคและแบ่งฝั่งในการทำงานครับ

น่าสนใจการเมืองไทยทำไมดูออกง่ายขนาดนี้ว่ามันจะเดินไปทางใด…