"เศรษฐา" นั่งเลกซัสส่วนตัวป้ายแดงเข้าทำเนียบฯ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี พร้อมคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ขณะที่ "อนุทิน" ลั่นพร้อมทำงาน ยันไม่กดดัน-ฝืนใจ ขรก. ยึดหลักซื่อสัตย์สุจริต มั่นใจ รมต.ภท. มีประสบการณ์บริหารประเทศ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.35 น. วันที่ 5 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ด้วยรถยนต์ยี่ห้อ Lexus LM 350h Executive หมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ถ 6506 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนตัว
โดยทันทีที่นายกฯ มาถึง ได้ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนจะลงมาบริเวณทางเชื่อม เพื่อเดินไปถ่ายภาพทำบัตรประจำตัวที่ตึกสันติไมตรี ทั้งนี้นายกฯ ได้ทักทายสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมหยุดให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ ก่อนเข้าตึกสันติไมตรี ก่อนจะนำคณะรัฐมนตรี (ครม.)เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในเวลา 14.00 น.
จากนั้น นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคม และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและมนุษย์ (พม.) ได้เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงสีนาฬิกาข้อมือของ นายวราวุธ ซึ่งเป็นสีชมพู ว่า ต้องการให้เป็นสีเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่ โดยนายวราวุธได้ตอบกลับอย่างติดตลกว่า สีกระทรวง พม.เป็นสีชมพู ไม่แน่ใจว่าตอนตั้ง ครม. เขาเลือกกระทรวงตามสีพรรคหรือเปล่า ก็เลยได้สีชมพู ทําให้สื่อมวลชนต่างพากันหัวเราะ
ต่อมา นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาถึง โดยร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้กลับมายังทำเนียบรัฐบาลว่า เฉยๆ
จากนั้น รัฐมนตรีหลายคนได้ทยอยเดินทางมาถึง ได้แก่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลําดับ
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล และให้สัมภาษณ์ว่า เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งสูงสุดที่ได้รับ ซึ่งตนจะทำงานให้ดีที่สุดในหน้าที่ที่ได้รับ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล
ต่อมา ในเวลา 11.00 น. รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจทั้งหมดได้รวมตัวกันที่ตึกบัญชาการ 1 ก่อนที่จะเดินไปถ่ายรูปติดบัตร พร้อมกันที่ตึกสันติไมตรี นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นางสาวศุภมาศ อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.), นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โดย นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกภาคภูมิใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ และขอบคุณนายกฯที่ไว้วางใจพวกเรา ส่วนเรื่องนโยบายต่างๆ วันเข้ากระทรวงคงต้องหารือให้ข้าราชการสบายใจ อย่าไปทำงานในสภาพที่กดดันและฝืนใจในการทำงาน ต้องทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เราทำงานตอบสนอง และรับใช้นายกฯสุดความสามารถ
นายอนุทิน กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยมีประสบการณ์ด้านการเมืองและการบริหาร มีหลักการที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ทำงานทุ่มเท จะเดินทางเข้ากระทรวงมหาดไทยในวันที่ 7 กันยายนนี้ คงได้หารือกับข้าราชการประจำ ส่วนการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เราได้ทำเสร็จแล้วและส่งให้พรรคเพื่อไทย และส่งทีมไปหารือเรียบร้อยแล้ว และนโยบายไม่ได้มีปัญหาอะไรที่เป็นความเสี่ยงที่ไม่สอดคล้อง ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าเรื่องการผลักดันกัญชาทางการแพทย์ของพรรคภูมิใจไทย นายอนุทินกล่าวว่า กัญชาทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ
เมื่อถามว่า มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เรื่องยังอยู่ในกระทรวงมหาดไทย นายอนุทินกล่าวว่า ต้องเข้าไปดูข้อเท็จจริงว่ามีอุปสรรคปัญหาอย่างไร และจะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนน้อยที่สุด
ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ภาพรวมขณะนี้ สว. ไม่ได้ตกลงในรายละเอียดว่าจะแถลงอย่างไร แต่วันที่ 6 ก.ย. จะมีประชุมวิปวุฒิสภา คงจะมีการหารือและตกลงในหลักการและมอบหมายให้ผู้แทนของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) วุฒิสภา หารือเรื่องเวลากับวิป 3 ฝ่าย ที่จะประชุม 7 ก.ย. จากนั้นแนวปฏิบัติที่ทำมาในครั้งก่อน คือ เมื่อได้นโยบายมาแล้วจะมาแยกแยะแจกแจงเพื่อให้ สว. แจ้งความประสงค์ว่าใครจะพูดเรื่องอะไร ในประเด็นอะไรในระยะเวลาเท่าไร
ทั้งนี้เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ เท่าที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในแต่ละกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องซักถามกันมาก รวมถึงนโยบายปรองดอง การทหาร และทุกนโยบาย เชื่อว่า สว. ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เป็นวาระสุดท้ายในสภา มีความกระตือรือร้นในการอภิปราย โดยเฉพาะ สว. ต่างจังหวัด ที่เขาได้รับการร้องเรียนปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาพืชผลการเกษตร เขาอยากดูว่าในระยะเวลาที่รัฐบาลมาบริหารช่วงแรก 3-6 เดือน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและความหวังให้กับประชาชนตามหาเสียงได้หรือไม่
ประเด็นเหล่านี้ ผมเชื่อว่าสว. คงจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลแถลงนโยบาย แล้วกลับไปเฉยๆ จะต้องหาคำมั่นหาคำยืนยันให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่พูดไว้แต่ละเรื่องนโยบายทำได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟ ค่าครองชีพ และนโยบายพักหนี้ต่างๆ เมื่อไรทำได้ ไม่ใช่เหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ หรือรัฐบาลอื่นๆ ที่แถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อย ทำได้หรือไม่ ก็ไม่รับผิดชอบ คณะรัฐบาลของนายเศรษฐา จะต้องถูก สว. จี้ และขอคำมั่นอย่างชัดเจนในแต่ละนโยบายต่างๆ นายวันชัย ระบุ
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาตินั้น แม้รัฐบาลจะแถลงแล้ว แต่เป็นการแถลงนอกสภาฯ ในสภาฯ เราจะขอคำมั่นว่า การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์จะแตะหรือไม่อย่างไร รวมถึงประเด็นที่แก้ไขต่างๆ ในส่วนรัฐบาลมีประเด็นอะไรบ้าง ที่สำคัญ คือการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมาจากไหน จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากส่วนใด สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญ เราดูว่าหากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะเกิดอิทธิพลครอบงำจากพรรคการเมือง ทำให้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของประชาชนจริง อาจจะเป็นความต้องการของพรรคการเมือง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องหาความพอดีและความชัดเจนว่า คนที่จะมาร่างควรมีภาคส่วนใดบ้าง นักวิชาการควรมาอย่างไร สาขาอาชีพต่างๆ ควรมาอย่างไร การเลือกตั้งควรมีสัดส่วนอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะฟังความชัดเจนจากรัฐบาล
เมื่อถามว่า สว. ติดขัดเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีที่จะมาทำเรื่องนโยบาย เช่น เอาตำรวจคุมกระทรวงศึกษา นายวันชัย กล่าวว่า ข้อจำกัดทางการเมืองของเขารวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองบางคนอาจจะมีข้อตำหนิ ไม่เหมาะสมแต่โดยส่วนตัว ตนถือว่า จัด ครม. ในสถานการณ์อย่างนี้ได้ขนาดนี้ดีแล้ว แต่ลำพังแค่หน้าตาของรัฐมนตรีคงไม่พอ ตนคิดว่าผลงานจะเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะลบข้อครหาของคนที่เป็นรัฐมนตรีไปได้ ถ้าทำงานแล้ว 3-6 เดือน หรือ 1 ปี มีผลงานดีจะลบข้อตำหนิได้หมด แต่หากไม่มีผลงานยิ่งกว่าถูกตำหนิ เหมือนเป็นการซ้ำเติมหน้าตาของรัฐมนตรีคนนั้น
ดังนั้นการที่จะรัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ อยู่ยาวหรือไม่ ผมมองว่ามาจากเหตุ 3 ประการ คือ 1.เป็นแล้วมีผลงานหรือไม่ ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด เพราะคนรอผลงาน รอความหวัง หากเป็นแล้วไม่สามารถสร้างความหวังให้เขาได้ไม่มีผลงาน กระแสจะถูกตีกลับ 2.พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งหรือไม่ จะทำให้รัฐบาลอยู่สั้นก็ได้หากทะเลาะกัน ในสถานการณ์นี้หากผนึกกำลังกันได้เข้มแข็งและมีผลงาน จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ยาว และ 3.ผลงานที่ปรากฎในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวจะเป็นตัวกำกับสำคัญ โดยเฉพาะไม่โกง หรือทุจริตคอร์รัปชัน หากเป็นรัฐบาลแล้วทำมาหากิจเอื้อประโยชน์ให้พรรค หรือพรรคพวกของตนเอง รวมถึงประโยชน์ของบริษัท บริวารของพรรคพวกตัวเอง เท่ากับว่าเป็นรัฐบาลฆ่าตัวตาย สิ่งเหล่านี้มีบทเรียน และประสบการณ์ต่างๆ ของคนที่เป็นรัฐมนตรีและมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นบทเรียนที่ผ่านมาจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลนี้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด สว. ผู้นี้ ระบุ
เมื่อถามถึงความเหมาะสมของว่าระยะเวลาการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายวันชัย กล่าวว่า ระยะเวลาอภิปราย 2 วัน มีความเหมาะสม และเชื่อว่าการอภิปรายนั้นจะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการแถลงนโยบายสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ที่เวลารวม 30 ชั่วโมง ขณะเดียวกันการอภิปรายของ สว. ครั้งนี้ เชื่อว่าจะขอเวลามากกวาครั้งก่อนอยู่มาก เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องการซักถามรายละเอียด อย่างไรก็ดีหลังจากที่ ได้กรอบเวลาหลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 7 กันยายน แล้ววุฒิสภาจะจัดสัมมนา โดยหารือในประเด็นรายละเอียดของนโยบาย ซึ่งตนเชื่อว่าจะเห็นรายละเอียดล่วงหน้า พร้อมกับหนังสือนัดประชุมรัฐภา จากนั้นจะมอบหมายให้ กมธ.ของวุฒิสภานำประเด็นไปศึกษารายละเอียดก่อนกำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปราย