"ศรีสุวรรณ"เตรียมบุกกระทรวงยุติธรรม ยื่นหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์ คัดค้านแนวคิดพักโทษ "ทักษิณ" มองเอื้อประโยชน์ กลายเป็นสังคม 2 มาตรฐาน หากยังเมิณอาจต้องพึงศาลปกครอง ขณะที่ "ปิยบุตร" ยกเหตุ "ทักษิณ" จี้รัฐบาลเศรษฐา ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง ทุกฝักฝ่าย ตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ "ผบ.ตร." โยนถามหมอ-ราชทัณฑ์ แจงอาการป่วยทักษิณ หากครบ 30 วันต้องส่งกลับเรือนจำ
จากกรณีที่ เจ้าหน้าราชทัณฑ์นำตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีอาการป่วย ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้ามารักษาอาการที่โรงพยาบาลตำรวจ ห้องรอยัลสวีท ห้อง 1401 ชั้น 14 ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.66 และทางราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมวันแรกเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีครอบครัวและญาติแจ้งรายชื่อเข้าเยี่ยม 10 คนตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่อาคารภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานที่พักรักษาอาการป่วยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในช่วงเช้าพบว่าบรรยากาศยังคงเป็นไปตามปกติเช่นหลายวันที่ผ่านมา
โดยที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารฯยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจาก สน.ปทุมวัน เฝ้ารักษาความปลอดภัยตามปกติ และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินเข้า-ออกบริเวณลิฟท์เพื่อดูแลความเรียบร้อยและนำผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยรายอื่นเข้ามารักษาอาการป่วย ตามที่บันทึกข้อตกลงหรือ MOU ระหว่างโรงพยาบาลตำรวจ และราชทัณฑ์ แต่ไม่พบการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจากจำคุก 8 ปี เหลือ 1 ปี ไปแล้วนั้น นายทักษิณ อาจเข้าข่ายได้รับการพักโทษตามระเบียบของทางราชทัณฑ์ด้วย เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย แต่อย่างไรทางกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ก็จะต้องมีการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 หรือกฎกระทรวงของราชทัณฑ์หรือไม่ และถึงจะเข้าเกณฑ์ก็ต้องดูอีกว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดหรือขัดต่อระเบียบที่มีการกำหนดไว้
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือเพียง 1 ปีไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณหลังจากนี้ โดยเฉพาะการพูดกันอย่างหนาหูเกี่ยวกับการขอพักโทษ ซึ่งหานั้นจริงสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมแห่งดับเบิลสแตนดาร์ด หรือ 2 มาตรฐานที่น่ารังเกียจที่ชัดเจนที่สุด
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้ช่องทางการพักโทษจะมีอยู่ 2 ช่องทาง ตามขั้นตอน คือ 1. การรับโทษแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งก็จะเข้าเงื่อนไขการเป็นนักโทษชั้นดี สามารถปรับขึ้นได้ตามปกติ หรือ ขึ้นเป็นในกรณีพิเศษ ซึ่งหากทำตามนี้ ก็จะไปครบในวันที่ 22 ธ.ค. ก็จะเลยวันที่ 13 ต.ค. เลยวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนข้อที่ 2 คือ การพักโทษกรณีพิเศษ เช่น สูงวัยอายุเกิน 70 ปี หรือเป็นป่วยหนักมีโรคประจำตัว ก็อาจจะใช้ช่องทางนี้ แต่ถึงแม้จะใช้ช่องทางใด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการใช้อำนาจหรือดุลยพินิจหรือเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎกระทรวงที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสมัยที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินเป็น รมว.ยุติธรรม เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ 2560
ทั้งนี้ กฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2564 ที่ออกตามความ พรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ดังกล่าว น่าจะมีเจตนาที่จะออกมาเพื่อรองรับ นช.ทักษิณ เป็นการเฉพาะ ซึ่งทำให้ผู้ที่ผลักดันกฎกระทรวงดังกล่าวได้รับประโยชน์ถูกแต่งตั้งให้เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลเศรษฐา 1 ในขณะนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดินจึงได้ทำหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2562 ดังกล่าว ซึ่งอาจมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักโทษเทวดาบางคนที่ไม่ยอมเข้าคุกจริงๆตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งถือเป็นการออกกฎหมายที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมจำจะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามพรบ.หลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน ญาตินักโทษ และหรือนักโทษอีกหลายแสนคนที่อาจต้องป่วยและถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในที่สุด นายทักษิณจะต้องไม่ถูกพักโทษไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่เช่นนั้นคงต้องพึ่งศาลปกครองต่อไป
ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ รัฐบาลเศรษฐาและทุกพรรคในสภา ควรเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง ใจความตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับไทย ได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี วันที่ 1 ก.ย. และเตรียมเข้าสู่กระบวนการพักโทษ หรือได้รับอภัยโทษตามวโรกาสสำคัญต่อไปนั้น จนถึงตอนนี้มีคนจำนวนมากตั้งคำถาม และไม่เห็นด้วยกับกรณี นายทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน
นายปิยบุตร โพสต์ต่อว่า เพื่อลดทอนการตั้งคำถามเรื่องความไม่เสมอภาค เพื่อความปรองดองอย่างแท้จริงและเท่าเทียม รัฐบาลเศรษฐา และพรรคการเมืองในสภา ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทุกฝักฝ่าย ทั้งพันธมิตรฯ นปช. กปปส. และกลุ่มเยาวชน และราษฎร ตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน นี่ต่างหากที่จะเป็นก้าวแรกของการก้าวข้ามขัดแย้งที่แท้จริง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และเกิดประโยชน์ตกแก่ประชาชนคนธรรมดา นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนลดข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย ในประเด็นเกี่ยวกับบ่อเกิดของการตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้อีกด้วย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกย้ายเข้ามารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ทางราชทัณฑ์ประสานกับทางโรงพยาบาลตำรวจในการย้ายมาตามปกติ ในส่วนของภาพรวมได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควบคุมดูแล และประสานการทำงานในภาพรวม ส่วนรายละเอียดเรื่องการรักษาตัวหรือสภาพร่างกายต่างๆขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการรายงานเข้ามาให้ทราบหรือไม่ ผบ.ตร.ระบุ เป็นรายละเอียดของทางแพทย์ที่ทำการรักษาขอให้เป็นผู้ให้ข้อมูลจะดีกว่า เช่นเดียวกับระยะเวลาที่พักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งตามระเบียบหากครบ 30 วันจะต้องพิจารณาว่าจะรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อหรือย้ายกลับไปที่ราชทัณฑ์นั้นเรื่องดังกล่าวขอให้สอบถามกับทางราชทัณฑ์เพราะตนเองไม่มีความชำนาญเรื่องนี้
ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยนั้น ในภาพรวมได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.ดูแล ส่วนจะมีการเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยหรือไม่ หลังพบว่าแนวชายแดนมีการใช้โดรนในการก่อเหตุความไม่สงบนั้นระบุว่า เรื่องแนวชายแดนเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพ ในส่วนของตำรวจก็มีตำรวจตระเวนชายแดนหรือ ตชด.ในการบูรณาการร่วมกันในการดูแลความสงบ รวมถึงต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังปัองกันการนำมาใช้หรือก่อเหตุในพื้นที่ชั้นในหรือในเมืองด้วย โดยย้ำว่าตำรวจมีข้อมูลด้านนี้อยู่พอสมควร ผบ.ตร.กล่าว