เศรษฐา นั่งหัวโต๊ะหารือ รมว.-รมช. เพื่อไทย พร้อมเป็นรัฐบาลของประชาชน 11พรรคร่วม ลั่นรอบนี้เทหมดหน้าตัก ยันอะไรทำได้ต้องทำก่อน แม้มีขีดจำกัดหลายด้าน "วันชัย" เผย "สว." จ่อถล่มนโยบาย "รัฐบาลเศรษฐา1" ลั่นไม่ปล่อยให้แถลงแล้วกลับไปเฉยๆ จี้ขอความชัดเจน "เงินดิจิทัล -ที่มาส.ส.ร.-แก้รธน." ชี้ไม่ใช่แค่แถลงต้องรับผิดชอบ แนะ 3 เหตุผลรัฐบาลอยู่ยาว "สุทิน" เร่งแก้ปัญหาทหารเกณฑ์ เพิ่มสวัสดิการ ลั่นเงินเดือนต้องรับจริง พร้อมปรับทัศนคติด้านลบ จูงใจคนมาสมัคร แย้มเรื่อง "เรือดำน้ำจีน" มีทางออกในใจแล้ว เตรียมตอบหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย
ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการของพรรคเพื่อไทย อีก 16 คน ได้แก่ นายภูมิธรรมเวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนโยบายและรับประทานอาหารร่วมกัน
โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยในวันที่ 5 ก.ย.จะมีการเข้าถวายสัตย์ฯก่อนหน้านี้ตนเองเคยพูดไม่ถูกว่าเราเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้อยากให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลของประชาชน และพรรคร่วม 11 พรรค ซึ่งต้องให้เกียรติพรรคร่วมด้วย จึงฝากเอาไว้ด้วย
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในช่วงที่เลือกนายกฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม ได้พูดไว้ว่าพรรคเพื่อไทยมาด้วยต้นทุนที่สูง แต่จริงๆ แล้ว เราเทหมดหน้าตักในการทำงานครั้งนี้ เรามีตัวแทนจากประชาชนในการดูแลบ้านเมือง มีหลายคนก็อยากอยู่ตรงนี้ แต่เราก็คัดสรรมาอย่างดีแล้ว เรื่องของการทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดทั้งการทำงาน และงบประมาณ ก็เป็นขีดจำกัด ซึ่งอาจได้ในต้นปีหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นขีดจำกัดในการทำงาน มีหลายอย่างที่เราทำได้ก่อน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน อะไรทำได้ก่อนก็ทำ แต่ละกระทรวงก็มีแผนงานมากมาย
บางอย่างอยู่ที่งบประมาณ บางอย่างอยู่ที่กฎหมาย แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องอยู่ที่ขีดจำกัดพวกนั้น อะไรทำได้ก็ทำ ให้ประชาชนเห็นว่าเราทำงานอย่างเต็มที่ เวลาไปเจอประชาชนอย่าอธิบายว่าทำไมเราทำไม่ได้ เราถูกเลือกเข้ามาให้ทำให้ได้ นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า รัฐบาลประชาชนต้องลดช่องว่างระหว่างฝ่ายบริหารกับประชาชนให้ได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงผู้บริหาร อยากให้เป็นมิติใหม่ในการทำงานของรัฐบาลนี้ ซึ่งตนเองจะเน้นย้ำเรื่องนี้กับพรรคร่วมอีกครั้ง
วันเดียวกัน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ว่า ภาพรวมขณะนี้ สว.ยังไม่ตกลงกันในรายละเอียด ซึ่งในวันที่ 6 ก.ย.นี้มีการประชุมวิปสว. ก่อนที่จะมอบหมายให้ ผู้แทนของวิป สว. ไปพูดคุยกับวิป 3 ฝ่าย เพื่อตกลงในเรื่องเวลา และเมื่อได้นโยบายแล้วก็จะแยกแยะ แจกแจง ให้สมาชิกแจ้งความประสงค์เข้ามาว่า จะอภิปรายในเรื่องอะไร ประเด็นอะไร ใช้ระยะเวลาเท่าไร
ในครั้งนี้ เท่าที่ทราบเรื่องนโยบายใหม่ เช่น เงินดิจิตัล 10,000 บาท ที่จะมีการซักถามกันมาก นโยบายเรื่องความปรองดอง นโยบายด้านการทหาร และเกือบทุกนโยบาย ตนเชื่อว่าสว.ทุกคน มีความกระตือรือร้นที่จะอภิปรายกันมาก โดยเฉพาะสว.ที่อยู่ต่างจังหวัดที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ พืชผลทางการเกษตร อยากจะดูว่าในระยะเวลาที่รัฐบาลเข้ามา 3 เดือน 6 เดือนจะสร้างความเปลี่ยนแปลง จะสร้างความหวังให้กับประชาชนตามที่ได้หาเสียงไว้ได้หรือไม่
สว.คงไม่ปล่อยให้รัฐบาลแถลงนโยบายและกลับไปเฉยๆ จะต้องหาคำมั่น คำยืนยันให้ชัดเจนว่า สิ่งที่ได้พูดไว้ในแต่ละเรื่องแต่ละพรรคในรัฐบาลนั้นทำได้จริงหรือไม่ และเมื่อไรทำได้ ไม่ใช่เหมือนรัฐบาลอื่นๆที่แถลงนโยบายเรียบร้อย ทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่รับผิดชอบอะไร เพราะฉะนั้นรัฐบาลนายเศรษฐา จะต้องถูกสว. จี้และขอคำมั่นให้ชัดเจนแต่ละนโยบาย
ส่วนนโยบายการแก้รัฐธรรมนูญ สว.ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนและมีข้อกังวล ในการที่จะแก้หรือแตะในหมวดสำคัญ โดยเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ แม้จะแถลงว่าจะไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแถลงนอกสภาฯ แต่ในสภาฯจะขอคำมั่น ขอความชัดเจนในการที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ในหมวดพระมหากษัตริย์จะแตะหรือไม่แตะอย่างไร และการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐบาลมีประเด็นอะไรบ้าง
ที่สำคัญส.ส.ร.จะมาจากไหน จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือมาจากส่วนใด เพราะคนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดอิทธิพลจากพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะครอบงำไปด้วย ทำให้รัฐธรรมนูญ นั้นไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของประชาชนจริงๆ อาจจะเป็นความต้องการของพรรคการเมือง ดังนั้นเราต้องหาความพอดีว่า คนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญนั้นควรจะมีภาคส่วนใดบ้าง นักวิชาการควรจะมาอย่างไร สาขาอาชีพต่างๆ ควรจะมาอย่างไร การเลือกตั้งควรจะมีสัดส่วนอย่างไร เหล่านี้ก็จะฟังความชัดเจนจากรัฐบาล
สำหรับเรื่องคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรี ไม่สอดคล้องกับ กระทรวงที่ดูแลจะเป็น เรื่องที่ติดขัดในการแถลงนโยบายหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ข้อจำกัดทางการเมือง และสถานการณ์ทางการเมือง แม้อาจจะมีข้อตำหนิว่าเหมาะหรือไม่เหมาะสม แต่ส่วนตัวมองว่า ในสถานการณ์แบบนี้จัดคณะรัฐมนตรีได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว ลำพังเฉพาะหน้าตารัฐมนตรีคงไม่พอ แต่ผลงานเป็นเรื่องสำคัญที่จะลบข้อครหา คนที่เป็นรัฐมนตรีไปได้ ถ้าทำงานแล้ว 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 1 ปี ผลงานดีก็จะลบข้อตำหนิได้ แต่ถ้าไม่มีผลงาน ยิ่งกว่าถูกตำหนิเป็นการซ้ำเติมหน้าตารัฐมนตรีคนนั้น เพราะฉะนั้นจะอยู่ได้ไม่ได้ จะอยู่ยาวหรือไม่ยาว มาจากเหตุ 3 ประการ คือ
1. เป็นแล้วมีผลงานหรือไม่ ถ้าเป็นแล้วไม่มีผลงาน กระแสจะถูกตีกลับ 2. พรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกันหรือไม่ จะทำให้รัฐบาลนั้นอายุสั้น สุดท้าย 3. ผลงานที่จะปรากฏทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เป็นตัวจำกัดสำคัญ โดยเฉพาะไม่โกงกิน ทุจริตคอรัปชัน ถ้าเป็นรัฐบาลแล้วเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องตัวเอง เท่ากับเป็นรัฐบาลฆ่าตัวตาย สิ่งเหล่านี้มีบทเรียนมาแล้ว และเป็นบทเรียนให้รัฐบาลนี้จะต้องแก้ไขในสิ่งบกพร่องต่างๆเหล่านั้น
สำหรับการอภิปรายนโยบายรัฐบาล คาดว่าน่าจะใช้เวลา 2 วัน เพราะการแถลงนโยบายครั้งก่อน ใช้เวลา 30 ชม. การอภิปรายครั้งนี้ คาดการณ์ว่า ส.สพรรคก้าวไกลและ สว. น่าจะใช้เวลามากกว่าสมัย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ส่วนทางด้าน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงนโยบายการยกเลิกเกณฑ์ทหาร หลังได้หารือกับว่าที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า มีการพูดคุยกับ 3 เหล่าทัพแต่ยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องของรายละเอียดซึ่งเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เราพบว่ากองทัพเขาดำเนินการมานานแล้วและทำมาเป็นขั้นตอนเพียงแต่หากเราอยากให้รวดเร็วและทันกับที่สังคมต้องการ รัฐบาลจะต้องเข้าไปกำกับสนับสนุน ก็ไม่หนักใจอะไร
สำหรับนโยบายการปรับลดกำลังพลนั้น ที่ระบุว่าจะสามารถเริ่มต้นได้เลยในเดือนเมษายน 2567 นายสุทิน กล่าวว่า คำว่าเมษายนในปีหน้าหมายถึงมีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งทางพลเอกสนิทชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมก็ได้แจ้งว่าได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้ว เราสามารถรับสมัครได้เลย และเมื่อไปถึงเมษายนปีหน้าหากมีคนสมัครเต็มเราก็ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร
ส่วนที่ระบุว่าจะปรับลดกำลังพล หมายถึง การปรับโครงสร้างกองทัพที่เราชอบพูดกันว่านายพลเยอะไป ซึ่งในส่วนนี้กองทัพก็มีแผนอยู่แล้ว ได้ทำมาเป็นขั้นตอนและมีเป้าหมายว่าปี 2570 ขนาดกองทัพจะเปลี่ยน จำนวนนายพลก็จะเปลี่ยนด้วย ซึ่งกองทัพเขาตั้งใจจะทำอยู่แล้วและมีแผนแต่รัฐบาลโดยเฉพาะในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ต้องไปช่วยทางกองทัพให้ไปสู่เป้าหมายนั้น
เมื่อถามว่า กองทัพ มีความต้องการทหารเกณฑ์ในจำนวนหนึ่ง แต่หลังเปิดรับสมัครใจพบว่าจะขาดประมาณ 40,000 คน จะมีแนวทางที่จะปรับลด หรือเพิ่มเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนมาสมัครเพิ่มขึ้น นายสุทิน กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับว่า ต้องมีทหาร และทหารมีกำลังที่เขาประเมินแล้ว ว่ากองทัพต้องมีกำลังพลเท่าใด เราจะไปปรับลดกำลังพลโดยไม่คำนึงถึงความเข้มแข็งของกองทัพก็ไม่ได้ ในเมื่อกองทัพมีเป้าหมายว่าต้องมีทหารเกณฑ์จำนวนหนึ่ง เช่น 90,000 ถึง 100,000 คน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะได้จำนวนนี้ ก็เปิดรับสมัครก่อน ส่วนการเพิ่มเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งกองทัพเองก็ต้องการคนที่สมัครใจ เพราะมีความพร้อมได้ทหารที่ดีในส่วนที่เกณฑ์มาถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากได้
"ได้คนสมัครใจเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ถึงจะเกณฑ์และยอดเท่าที่ฟังกองทัพก็ยินดีจะปรับลด เพราะยอดปัจจุบันเยอะไป และสามารถปรับลดลงได้ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่กระทบต่อศักยภาพเมื่อลดแล้ว การรับสมัครก็เข้าเป้าขึ้น "
เมื่อถามว่าให้นโยบายพลทหารที่ไปทำหน้าที่ทหารบริการต้องปรับลดลงด้วยหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็คุยกันว่าการที่จะให้คนมาสมัครเยอะๆจะต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในความคิดของตน ต้องปรับ 2 ประการ 1.ปรับสวัสดิการ เพื่อเป็นแรงจูงใจ 2. ปรับทัศนคติที่สังคมมีในเชิงลบกับทหารเกณฑ์ ยังติดภาพเดิมว่าระบบการฝึกทารุณโหดร้าย เด็กเจ็บ เด็กตาย เราต้องปรับความเชื่อ ซึ่งความจริงแล้วมันมีไม่กี่กรณีแต่เป็นข่าวไปทั่ว
นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อว่า ทหารเกณฑ์ได้เงินเดือนจริงแต่รับจริงได้ไม่ถึง เราต้องพูดให้ชัดเจน ว่าคนที่มาเป็นทหารเกณฑ์จะได้รับเงินเดือนจริง ส่วนไหนที่ต้องหักต้องอธิบายได้ และ เท่าที่คุย ผบ.เหล่าทัพ พูดถึงขนาดว่า ต่อไปจ่ายเงินเดือนทหารเกณฑ์จะจ่ายตรง เข้าบัญชี ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส คิดว่า หากปรับ 2 อย่างนี้รวมถึงสวัสดิการคนจะสมัครเยอะ ดีไม่ดีจะเยอะเกินกว่าความต้องการ
นายสุทิน ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ว่า ภายหลังการถวายสัตย์ปฏิญาตและรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาฯแล้ว ตนจะให้ความชัดเจน ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ หลังกองทัพเรือเสนอให้ใช้เครื่องยนต์จากจีน ซึ่งตนมีทางออกอยู่ในใจแล้ว และเป็นทางอออกที่ดี ส่วนจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ขอกล่าวหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย
เมื่อถามย้ำว่าเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่บอกว่ามีทางออกที่ดี เป็นอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า คำว่าดีก็คือ 1)กองทัพต้องพอใจ 2)ประชาชนและสังคมรับได้ มีเหตุผลอธิบายได้ เมื่อถามย้ำว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ นายสุทิน กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาฯ จะชี้แจง และต้องพูดคุยรายละเอียดกับกองทัพเพราะเป็นหน่วยงานที่จะต้องใช้งาน แม้จะมีการพูดคุยกันไปแล้วบ้าง แต่ยังไม่ละเอียด ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน เมื่อถามว่ายังคงเป็นเรือดำน้ำจีนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าเป็นทางใดทางหนึ่ง
ส่วนจะมีข้อเสนอที่ดีกว่าให้กองทัพพิจารณาหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ใช่ มีข้อเสนอที่ดีกว่า ก็อาจจะลองคุยอีกทีหนึ่ง ก็ได้ เมื่อถามว่าจะเป็นเรือดำน้ำของเกาหลีใต้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่หรอก คงไม่เป็นชาติอื่น