"ทนายเชาว์" เฮลั่นศาลแพ่ง ตัดสินให้ชาวบ้านชนะ ปม "คนจนบัตรทอง" ฟ้องหมอ-รพ. ปล่อยคนไข้โควิด-19 ตาย  ชี้ ศาลระบุชัด "หมอ - รพ." ประมาทเลินเล่อร้ายแรง เชื่อจะเป็นคดีตัวอย่างแพทย์ต้องมีจรรยาบรรณ ต่อชีวิตปชช.สุดภูมิใจช่วยคนจนไม่มีเงินจ้างทนาย เข้าถึงกระบวนยุติธรรม

วันที่ 4 ก.ย.2566 นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ค Chao meekhuad เรื่อง  “คนจนบัตรทอง”ชนะคดีตัวอย่าง ฟ้อง แพทย์,โรงพยาบาล ปฏิเสธตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำเสียชีวิต มีเนื้อหาระบุว่า เช้าวันที่ 4 ก.ย.66ตนกับครอบครัว”สาพันธ์” ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก คดีฟ้องแพทย์, โรงพยาบาล ที่ปฏิเสธไม่ให้บริการตรวจรักษานางประไพ สาพันธุ์ ผู้ป่วยโควิด-19 ตามมาตรฐานที่ควรกระทำ จนเสียชีวิต รวมทั้งฟ้อง สปสช.และ รมว.สาธารณสุข บริหารผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยตายเพราะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข เนื่องจากขาดความพร้อมทั้งเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ 

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564  นางประไพ มีอาการไอ เหนื่อยหอบ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ครบอาการที่บ่งชี้ว่าติดโควิด-19 จึงไปขอตรวจที่โรงพยาบาลตามที่ตนมีสิทธิบัตรทอง นางประไพแจ้งอาการให้หมอทราบว่า เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับมารดาที่ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้ช่วยตรวจหาเชื้อ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่พยาบาลว่านางประไพเคยใช้สิทธิบัตรทองตรวจหาเชื้อโควิดมาครั้งหนึ่งแล้วไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้อีก แต่ก็ได้ส่งไปพบแพทย์เวร แต่แพทย์เวรคนดังกล่าว ก็ตรวจแบบหยาบๆ โดยไม่มีการตรวจหาเชื้อตามความประสงค์ของคนไข้ ทั้งที่อาการเข้าข้อสันนิษฐานครบ แล้วจ่ายยาพาราเซตามอล ให้กลับไปบ้าน  แต่คนไข้ก็อาการไม่ดีขึ้น  ยังมีอาการ ไอ เหนื่อยหอบ ท้องเสีย ปวดศีรษะ รุนแรงขึ้น จึงตัดสินใจกลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น (25 มิ.ย. 64) ในสภาพอิดโรย ต้องนั่งรถเข็น พร้อมกับร้องขอต่อแพทย์คนเดิมให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับการปฏิเสธ อ้างว่า น้ำยาตรวจหาเชื้อหมด แล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลเจาะเลือดและให้น้ำเกลือในสภาพที่คนไข้นั่งอยู่ในรถเข็นข้างทางเท้าบริเวณอาคารโรงพยาบาลอย่างน่าเวทนา ไม่ได้ให้ผู้ตายเข้าไปยังห้องพักหรือรับตัวไว้ (admit) เพื่อเข้ารักษาอย่างถูกวิธี  เมื่อให้น้ำเกลือจนหมดขวด ได้จ่ายยาแบบเดิมๆ  แล้วก็ให้กลับบ้าน ในสภาพที่นางประไพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ญาติต้องคอยพยุงอุ้มขึ้นรถ ไปนอนรอความตายที่บ้านตามยถากรรม วันที่ 28 มิ.ย.2566 มีหน่วยบริการเคลื่อนที่โรงพยาบาล เกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ มาบริการตรวจเชื้อโควิดฟรี ให้กับคนในชุมชน  ลูกๆจึงนำนางประไพไปตรวจ พบว่าติดเชื้อโควิด ซึ่งคาดว่าน่าจะติดจากคุณแม่นางประไพมาหลายวันแล้ว ลูกๆ จึงเร่งประสานหาเตียง เพื่อส่งตัวนางประไพไปรักษา แต่ยังหาเตียงไม่ได้ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 นางประไพทรุดหนัก  มีอาการอ่อนเพลียหายใจติดขัด มีภาวะช็อกเกร็ง ในที่สุดนางประไพได้เสียชีวิตที่บ้านพักต่อหน้าลูกๆ 

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากต่อสู้คดีกันมานับปี ในที่สุดก็ได้รับความยุติธรรมจากศาล ศาลแพ่งพิพากษาให้ครอบครัวสาพันธ์โจทก์ชนะคดี แม้จะได้ค่าเสียหายไม่เต็มตามฟ้อง แต่คำพิพากษาระบุพฤติการณ์ของแพทย์ผู้ตรวจรักษาชัดว่า  “ การที่ผู้ตายมีอาการหอบเหนื่อยไอและมาหาจำเลยที่ 1 เพื่อรักษาถึง 2 ครั้ง แต่จำเลยที่ 1 กลับใช้ดุลพินิจในการตรวจวินิจฉัยโรคโดยไม่ส่งผู้ตายไปตรวจหาเชื้อโควิด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ตาย”  ซึ่งคาดว่าจะมีอุทธรณ์ฎีกากันต่อเพราะคดียังไม่ถึงที่สุด

"เป็นอีกหนึ่งคดีที่ภูมิใจ ซึ่งน่าจะถือเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องจากกรณีโรคโควิด-19 ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง แพทย์ โรงพยาบาล ต้องมีจรรยาบรรณ ฝ่ายบริหารต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน เพราะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขที่สำคัญคือได้ช่วยคนจนไม่มีเงินจ้างทนายให้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม  คดีนี้นอกจากว่าความให้ฟรีแล้ว ผมยังช่วยออกค่าเดินทางให้พยานหมายตามที่ขอให้ศาลเรียกมาเป็นพยานที่ศาลด้วย"นายเชาว์ กล่าว