เอลนีโญยังแรง เร่งเก็บกักน้ำปลายฝน วอนเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ลดเสี่ยงผลผลิตเสียหาย
วันที่ 4 ก.ย.66 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน (4 ก.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,470 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศไปแล้ว 14,238 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,706 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 104 ของแผน ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 14.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 2.84 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.49 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.53 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก (เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า สถานการณ์เอลนีโญจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ และมีแนวโน้มส่งผลยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 67 โดยคาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศรวมกันประมาณ 21,160 ล้าน ลบ.ม เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,803 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ปริมาณน้ำดังกล่าวนี้ จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต สอดคล้องสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดทำนาปีต่อเนื่อง ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันเก็บกักน้ำไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง บ่อ อาคารชลประทานที่ได้รับการถ่ายโอนแล้ว หรือแม้แต่ภาชนะสำรองน้ำภายในครัวเรือน ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป