คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ International Monetary Fund (IMF) จัดเสวนาเรื่อง “External rebalancing in turbulent time” ความผันผวนของสกุลเงินต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงโลก ผลการวิเคราะห์ระบุวิกฤติโควิด-19 ภาวะสงคราม นโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วในช่วงสามปีที่ผ่านมาส่งผล Global Current Balance ที่วัดโดยผลรวมของค่าสมบูรณ์ของดุลบัญชีเดินสะพัดแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศพัฒนาแล้วเดินนโยบายการเงินแบบตึงตัว การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงิน US dollarได้ส่งผลเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจาการเคลื่อนย้ายทุนและมีแนวโน้มจะเกิด Trade tension และการกีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว แนะประเทศกำลังพัฒนา เร่งการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนแก้ไขปัญหาโลกร้อน การลงทุนในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลการลงทุนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

งานเสวนาเรื่อง “External rebalancing in turbulent time” ความผันผวนของสกุลเงินต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงโลก โดย CBS ได้รับเกียรติจากนายเจียเชียน เฉิน รองหัวหน้าฝ่ายวิจัย และนายลูคัส โบเออร์ฝ่ายวิจัยเศรษฐศาสตร์ มานำเสนอผลการศึกษาที่ IMF ได้มีการออกรายงาน “External sector report: External rebalancing in turbulent time 2023”

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า การจัดงานเสวนาเชิงวิชาการในครั้งนี้ จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งจะเป็นฐานความรู้ที่ช่วยให้ภาครัฐและธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายทางการเงิน และนโยบายทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจากภัยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากพลวัตดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น เลขานุการภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักของการจัดงานให้ความคิดเห็นว่าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับexternal imbalance ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญทางวิชาการที่จะช่วยให้ผู้วางนโยบายสามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงิน US dollar และบทบาทที่ท้าทายของสกุลเงิน US dollar ในอนาคต ซึ่งรายงานการศึกษาของ IMF นี้เป็นฐานสำคัญสำหรับการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

โดยภายในงานเสวนาจะมีการนำเสนอผลการศึกษาที่วิเคราะห์พัฒนาการของดุลบัญชีเดินสะพัด(Current accounts) อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (Real exchange rates)
ทุนสำรองระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนของกลุ่มประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งผลการวิเคราะห์ที่สำคัญคือ Global current account balances ได้มีการขยายออกมากขึ้นในช่วงปี 2020-2022 ซึ่งการจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การฟื้นตัวที่แตกต่างของกลุ่มประเทศต่างๆภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้นของการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกา

สำหรับการวิเคราะห์ของ IMF พบว่า Excess global current account balances จะนำมาสู่แรงกดดันทางการค้าระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้า และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงิน US dollar ได้ส่งผลเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่การมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและการใช้นโยบายที่ตรึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างเหมาะสมจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบดังกล่าวได้ พร้อมแนะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้ประโยชน์จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดควรเร่งการลงทุนของภาครัฐเพื่อฉวยโอกาสและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเองไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน การลงทุนในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการลงทุนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ