วันที่ 4 กันยายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร กทม.ว่า กรุงเทพมหานครได้รับรางวัลหน่วยงานภาครัฐระดับดีเด่น จากการคัดเลือกหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศทั้ง 740 หน่วยงาน ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดย กทม.ส่งผลงาน BMA ระบบเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) เข้าประกวดและได้รับรางวัลระดับดีเด่น สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งปัญหาของเมืองและร่วมกันแก้ไข ผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 2.บริการผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ 3.การเชื่อมโยงศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ 1555 กับ ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลระดับดี จากการส่งผลงาน โครงการ Smart OPD ของสำนักการแพทย์ เข้าประกวดอีกด้วย

นายชัชชาติ กล่าวว่า รางวัลระดับดีเด่นหมายถึงดีที่สุดของผลงานทั้งหมดที่เข้าร่วมประกวด เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เนื่องจากตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กทม.ทำงานอย่างหนัก โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ แก่ประชาชน เช่น เรื่องงบประมาณ และการใช้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบอบการทำงานของ กทม. รางวัลดังกล่าวถือเป็นภาพสะท้อนการทำงานของ กทม.อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลของ กทม. ประกอบด้วย 7 ด้าน คือ 1.การเปิดเผยผ่านช่องทางหลากหลายและเท่าเทียม 2.ช่องทางการให้บริการและเข้าถึงสำหรับกลุ่มเปราะบาง 3.การให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเมือง 4.การยกระบบที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเข้าสู่ระบบออนไลน์ 5.ส่งเสริมความโปร่งใส่ต่อต้านทุจริต 6.สร้างความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน 7.การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาการให้บริการและทำงานเชิงรุก

ในการเปิดเผยข้อมูลและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการได้รับรางวัลระดับดีเด่นครั้งนี้ เนื่องจากระหว่างที่กทม.ส่งผลงานเข้าประกวด มีเรื่องที่ประชาชนแจ้งผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์กว่า 310,000 เรื่อง แก้ไปแล้วกว่า 200,000 เรื่อง คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นว่า กทม.เป็นหน่วยงานที่รับเรื่องและแก้ปัญหาให้ประชาชนได้มากที่สุด รวมถึงนำข้อมูลและบริการของแต่ละหน่วยงานภายในเข้าสู่ระบบออนไลน์ และการต่อต้านทุจริต

นอกจากนี้ วันที่ 5 กันยายน (พรุ่งนี้) กทม.จะเข้ารับเรื่องวัลกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการทำให้เกิดความโปร่งใสภายในสำนักงานเขต (IDA) เนื่องจาก ปี 2565 มีสำนักงานเขตได้รับรางวัลดังกล่าวไปแล้วประมาณ 10 เขต ปี 2566 เพิ่มเป็น 26 เขต โดยได้รับการประเมินคะแนนรับรางวัลเกือบ 100 คะแนนเต็ม ซึ่งกทม.มีความจริงจังเรื่องความโปร่งใสตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทางเท้า ไฟส่องสว่าง และความโปร่งใส

“เห็นชัดแล้วว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา กทม.มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ได้รับรางวัลระดับชาติที่มีคณะกรรมการประเมิน คือ รางวัลเลิศรัฐ เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจและต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นรางวัลของเจ้าหน้าที่ทุกคนของกทม. ไม่ใช่ของผู้ว่าฯกทม. ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงการทำงาน และเป็นกำลังใจในการเดินหน้าสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป” นายชัชชาติกล่าว