วันที่ 4 ก.ย.2566 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ วันที่ 11 ก.ย. ว่า ภาพรวมขณะนี้สว.ไม่ได้ตกลงในรายละเอียดว่าจะแถลงอย่างไร แต่วันที่ 6 ก.ย.จะมีประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา คงจะมีการหารือและตกลงในหลักการและมอบหมายให้ผู้แทนของวิปวุฒิสภา หารือเรื่องเวลากับวิป 3 ฝ่ายที่จะประชุม 7 ก.ย. ซึ่งจากแนวปฏิบัติที่ทำมาเมื่อได้นโยบายมาแล้วจะมาแยกแยะแจกแจงเพื่อให้ สว. แจ้งความประสงค์ว่าใครจะพูดเรื่องอะไร ในประเด็นอะไรในระยะเวลาเท่าไร เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ เท่าที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในแต่ละกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องซักถามกันมาก รวมถึงนโยบายปรองดอง การทหาร และทุกนโยบาย เชื่อว่า สว. ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เป็นวาระสุดท้ายในสภา มีความกระตือรือร้นในการอภิปราย โดยเฉพาะ สว.ต่างจังหวัด ที่เขาได้รับการร้องเรียนปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาพืชผลการเกษตร เขาอยากดูว่าในระยะเวลาที่รัฐบาลมาบริหารช่วงแรก 3-6 เดือน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและความหวังให้กับประชาชนตามหาเสียงได้หรือไม่
"ผมเชื่อว่าสว. คงจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลแถลงนโยบาย แล้วกลับไปเฉยๆ จะต้องให้คำมั่น ให้คำยืนยันให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่พูดไว้แต่ละเรื่องนโยบายทำได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟ ค่าครองชีพ และนโยบายพักหนี้ต่างๆ เมื่อไรทำได้ ไม่ใช่เหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ หรือรัฐบาลอื่นๆ ที่แถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อย ทำได้หรือไม่ ก็ไม่รับผิดชอบ คณะรัฐบาลของนายเศรษฐา จะต้องถูกสว. จี้ และขอคำมั่นอย่างชัดเจนในแต่ละนโยบายต่างๆ"นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวด้วยว่าส่วนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาตินั้นแม้รัฐบาลจะแถลงแล้วแต่เป็นการแถลงนอกสภาฯ ในสภาฯ เราจะขอคำมั่นว่า การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์จะแตะหรือไม่อย่างไร รวมถึงประเด็นที่แก้ไขต่างๆ ในส่วนรัฐบาลมีประเด็นอะไรบ้าง ที่สำคัญ คือการมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ จะมาจากไหน จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากส่วนใด สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญ เราดูว่าหากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะเกิดอิทธิพลครอบงำจากพรรคการเมือง ทำให้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของประชาชนจริง อาจจะเป็นความต้องการของพรรคการเมือง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องหาความพอดีและความชัดเจนว่า คนที่จะมาร่างควรมีภาคส่วนใดบ้าง นักวิชาการควรมาอย่างไร สาขาอาชีพต่างๆ ควรมาอย่างไร การเลือกตั้งควรมีสัดส่วนอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะฟังความชัดเจนจากรัฐบาล
เมื่อถามว่า สว.ติดขัดเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีที่จะมาทำเรื่องนโยบาย เช่น เอาตำรวจคุมกระทรวงศึกษา นายวันชัย กล่าวว่า ข้อจำกัดทางการเมือง รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองบางคนอาจจะมีข้อตำหนิ ไม่เหมาะสมแต่โดยส่วนตัว ตนถือว่า จัดครม. ในสถานการณ์อย่างนี้ได้ขนาดนี้ดีแล้ว แต่ลำพังแค่หน้าตาของรัฐมนตรีคงไม่พอ ตนคิดว่าา ผลงานจะเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะลบข้อครหาของคนที่เป็นรัฐมนตรีไปได้ ถ้าทำงานแล้ว 3-6 เดือน หรือ 1 ปี มีผลงานดีจะลบข้อตำหนิได้หมด แต่หากไม่มีผลงานยิ่งกว่าถูกตำหนิ เหมือนเป็นการซ้ำเติมหน้าตาของรัฐมนตรีคนนั้น ดังนั้นการที่จะรัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ อยู่ยาวหรือไม่ ตนมองว่ามาจากเหตุ 3 ประการ คือ 1. เป็นแล้วมีผลงานหรือไม่ ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด เพราะคนรอผลงาน รอความหวัง หากเป็นแล้วไม่สามารถสร้างความหวังให้เขาได้ไม่มีผลงาน กระแสจะถูกตีกลับ 2. พรรคร่วมรัฐบาล ขัดแย้งหรือไม่จะทำให้รัฐบาลอยู่สั้นก็ได้หากทะเลาะกัน ดันั้นในสถานการณ์นี้หากผนึกกำลังกันได้เข้มแข็งและมีผลงาน จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ยาว และ 3.ผลงานที่ปรากฎในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวจะเป็นตัวกำกับสำคัญ โดยเฉพาะไม่โกง หรือทุจริตคอร์รัปชั่น หากเป็นรัฐบาลแล้วทำมาหากิจเอื้อประโยชน์ให้พรรค หรือพรรคพวก ของตนเอง รวมถึงประโยชน์ของบริษัท บริวารของพรรคพวกตัวเอง เท่ากับว่าเป็นรัฐบาลฆ่าตัวตาย สิ่งเหล่านี้มีบทเรียน และประสบการณ์ต่างๆ ของคนที่เป็นรัฐมนตรีและมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นบทเรียนที่ผ่าน จะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลนี้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด
เมื่อถามถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายวันชัย กล่าวว่า 2 วันมีความเหมาะสมและเชื่อว่าการอภิปรายนั้นจะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการแถลงนโยบายสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ที่เวลารวม 30 ชั่วโมง ขณะเดียวกันการอภิปรายของสว.ครั้งนี้ เชื่อว่าจะขอเวลามากกวาครั้งก่อนอยู่มาก เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องการซักถามรายละเอียด อย่างไรก็ดีหลังจากที่ ได้กรอบเวลาหลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 7 ก.บ.แล้ว วุฒิสภาจะจัดสัมมนา โดยหารือในประเด็นรายละเอียดของนโยบาย ซึ่งตนเชื่อว่าจะเห็นรายละเอียดล่วงหน้า พร้อมกับหนังสือนัดประชุมรัฐภา จากนั้นจะมอบหมายให้ กมธ.ของวุฒิสภานำประเด็นไปศึกษารายละเอียดก่อนกำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปราย