ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เห็นชัดในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศที่กลายเป็นจังหวัดสูงวัย เพราะหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ภาพรวมนี้เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ทำให้ ‘การดูแลผู้สูงอายุ’ กลายเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบกลไกการทำงานของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหลายพื้นที่เองก็มีการทำงานเชิงรุกในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ สร้างสังคมให้หนุนเสริมดูแลกันและกันโดยเฉพาะให้ครอบครัวผู้สูงอายุอยู่ร่วมกันได้

เช่นที่เกิดขึ้นที่เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ โดย นางลัดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว ได้ทำงานเชิงรุกในการดูแลผู้สูงอายุยาวนานมากว่า 9 ปี เนื่องด้วยบริบทของพื้นที่มีจำนวนประชากรกว่า 4,700 คน มีผู้สูงอายุในตำบลสองแควกว่า 1,300 คนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

“การดูแลผู้สูงวัยแบ่งออกเป็นหลากหลายมิติ ที่สองแควเอง เราเริ่มต้นจากการตั้งทีมงาน สำรวจชุมชนทุกครัวเรือน นำโดย อสม.ในแต่ละชุมชน ว่าแต่ละบ้านมีผู้สูงอายุไหม มีเท่าไหร่ ต้องการอะไร เพื่อจะได้ออกแบบและวางแผนในการดูแลผู้สูงอายุต่อไป ที่ตำบลสองแควผู้สูงอายุประสบปัญหาใหญ่อยู่ 4 เรื่อง คือ 1. ที่อยู่อาศัย 2. ค่าครองชีพ 3. สุขภาพ และ 4. การมีส่วนร่วมในการออม เราจึงสนับสนุนให้มีกองทุนสวัสดิการชุมชน ริเริ่มโดยผู้สูงอายุที่รวมตัวกันออมเงินวันละ 1 บาท กองทุนนี้จะใช้เป็นสวัสดิการดูแลสมาชิก เจ็บป่วย ไม่สบาย ไปถึงเสียชีวิต รวมทั้งมีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หากผู้สูงอายุตกทุกข์ได้ยากจริงๆ ก็จะมีสวัสดิการอื่นๆ คอยสนับสนุน ไม่เลือกปฏิบัติ” นางลัดดา กล่าว

นายศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เล่าถึงบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุของโรงพยาบาลชุมชนว่า เมื่อโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่นคืออบต.ดอนแก้ว ก็มีแผนการทำงานดูแลผู้สูงอายุของแต่ละภาคส่วนชัดเจน ทำให้การดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ง่ายขึ้น เช่น กิจกรรมของผู้สูงอายุที่เป็นเรื่องการส่งเสริมความเข้มแข็ง การจัดสวัสดิการจะอยู่ในส่วนงานของอบต. ปัญหาเรื่องสุขภาพ เจ็บไข้ ไม่สบาย ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เป็นบทบาทของโรงพยาบาล ซึ่งเกิดจากการวางแผนการทำงานร่วมกัน

ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของอบต.ดอนแก้ว พบผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวจำนวน 112 คน และกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกัน 2 คน คู่สามีภรรยาจำนวนกว่า 800 คน เป้าหมายในการทำงานของโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว คือการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ 1,000 คน พร้อมกับลงรายละเอียดเชิงลึกในระดับบุคคล ข้อมูลสุขภาพ ความเป็นอยู่ อาชีพ โดย รพ.สต. เรามี Long-term care ในการดูแลผู้สูงอายุ

สำหรับ Long-term care ของดอนแก้วมีแผนระยะ 5 ปี ในการดูแลเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ปัจจุบันดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวติดเตียง 15 คน มีบุคคลากรดูแลจำนวน 35 คน ซึ่งเป็นอสม. ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะมี Care Manager ซึ่งเป็นพยาบาล ที่จะคอยวิเคราะห์ผู้ป่วยแต่ละราย วางแผนการดูแล เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ขณะเดียวกันที่ดอนแก้วได้ยกระดับให้ Care Givers เป็นอาชีพ มีค่าตอบแทนให้ ปัจจุบันดอนแก้วมี Care Givers ที่ถูกจ้างจำนวน 3 คน มีเงินเดือน 6,000 บาท โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่นเอง ซึ่งเรียกได้ว่าน้อยมากๆ สำหรับการดูแลผู้ป่วย ในอนาคตจึงมีการวางแผนเพิ่มรายได้ให้สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วย

ทางด้าน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า ปัจจุบัน สสส.โดย สำนัก 3 ทำงานขับเคลื่อนในการดูแลผู้สูงอายุ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. การทำงานเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น พยายามสร้างกลไกการทำงานภายในท้องถิ่นเอง โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเชื่อมร้อยองค์กรต่างๆ ผลักดันไปสู่แผนการทำงานดูแลผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่น เน้นการจัดบริการต่างๆขององค์กรชุมชนและหน่วยงานรัฐในชุมชนที่เป็นผู้ปฏิบัติใกล้ชิดกับผู้สูงอายุในพื้นที่ รับนโยบายภาพใหญ่มาทำงานในพื้นที่ ปฏิบัติแล้วไม่เป็นผล ก็ต้องไปปรับที่ยุทธศาสตร์ คือ ส่วนที่ 2 ที่ร่วมทำงานกับหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ในการที่ต้องออกแบบสนับสนุนให้พื้นที่นำนโยบายไปดูแลผู้สูงอายุได้จริง

ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นช่วยกันดูแลผู้สูงอายุจริงๆ ในหลากหลายมิติ สสส.หนุนเสริมศักยภาพที่แต่ละพื้นที่ลงมือทำงานจริงอยู่แล้ว ให้งาน 4 กลุ่มเกิดขึ้นได้สมบูรณ์มากขึ้น คือ 1. บริการสาธารณะต่างๆ 2. บริการสุขภาพ 3. สวัสดิการสังคม ทั้งสวัสดิการจากรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพ เบี้ยผู้สูงอายุ และสวัสดิการของชุมชนที่มาจากกองทุนต่างๆ มาช่วยเหลือในยามยากลำบาก และ 4. ระบบการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น

 “ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ท้องถิ่น หรือ รพ.สต. แต่รวมไปถึงกลุ่มอาชีพ สมาคมต่างๆ ในท้องถิ่นที่มีเครื่องมือ มีแผน และกลไก ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ว่าจะใช้ศักยภาพชุมชนด้านไหนในการเคลื่อนงาน เพื่อดูแลผู้สูงอายุด้วยกันอย่างแท้จริง” รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวในตอนท้าย