กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม พร้อมมุ่งเน้นผลักดันการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา กระบวนการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ พร้อมผลักดันการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านการประกวด DIPROM Agro-Machinery Award 2023 สร้างต้นแบบผู้ประกอบการการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ คาดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 130 ล้านบาท 

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อมเปิดเผยว่า เกษตรอุตสาหกรรมถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแห่งอนาคต เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อวางแผนการเกษตรและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน 

โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อมแข่งขันในตลาดได้ ภายใต้นโยบาย ดีพร้อมโต “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” ที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น โดยเฉพาะการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นชุมชน ผ่านการดำเนินงานการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อยกระดับและพัฒนาแบบอย่างการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะสู่การเป็นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะอย่างมืออาชีพ รวมทั้งต่อยอดและขยายผลการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะสู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆได้อย่างดี

นายใบน้อย กล่าวต่อว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆผ่านการดำเนินงานของศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ โดยการพัฒนาด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการหลากหลายธุรกิจ จำนวน 180 รายอาทิ ผลผลิตทางการเกษตรอบแห้ง ปลาร้า น้ำพริก ไซรัปจากกล้วย ปลาตากแห้ง น้ำเห็ด แยมผลไม้ เป็นต้น และธุรกิจประเภทแปรรูปที่ไม่ใช่อาหาร เช่น โลชั่น แป้งร่ำ สเปรย์สมุนไพร รองเท้ากะลา น้ำหมักชีวภัณฑ์ ยาสีฟันสมุนไพร

นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรและการใช้งานให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเผยแพร่การใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ช่วยให้มีแบบอย่างในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเกษตร อุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนรายอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ในเชิงอุตสาหกรรมตามความเหมาะสมในด้านต่างๆอาทิ ความต้องการผลิต ความคุ้มค่ากับระดับการผลิตของวิสาหกิจ ใช้งานง่าย ดูแลและบำรุงรักษาง่าย ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจมีของเสียลดลง ต้นทุนลดลง และยอดขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับธุรกิจเกษตรชุมชนในท้องถิ่นต่างๆที่คล้ายคลึงกัน ให้สามารถเรียนรู้กระบวนการผลิตประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆกับธุรกิจของตนเองได้มีโอกาสในการพัฒนาต่อยอด และขยายผลเพื่อพัฒนาสู่ธุรกิจที่เติบโตยิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกัน ดีพร้อม ยังได้มีการจัดงานมอบรางวัลประกวดการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ DIPROM Agro-Machinery Award 2023 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีการคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 180 ทีม โดยผลงานของทีมที่ได้คัดเลือกเป็นแบบอย่างการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1.รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เครื่องกะเทาะเปลือกกุ้งอัตโนมัติ รางวัลรองชนะเลิศรองอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องบดข้าว รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องปอกอ้อยระบบกึ่งอัตโนมัติ  รางวัล Knowledge Sharing ได้แก่ โรงเรือนตากปลาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์กึ่งอัตโนมัติ และรางวัล Technical Challenge ได้แก่ เครื่องคัดแยกขนาดลำไยสีทอง นอกจากนี้ยังมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ 20 ทีมอีกด้วย ทั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปจะช่วยยกระดับรายได้ของธุรกิจเกษตรชุมชนต่อยอดสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมอันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 130 ล้านบาท