นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบต่อไป (27 ก.ย.) มีโอกาสสูงที่จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงจากระดับ 3.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพ.ค.66 โดยมีสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มการส่งออกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด การส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาด จากภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน ซึ่งในช่วงไตรมาส 3/2566 การส่งออของไทยอาจยังไม่เห็นการฟื้นตัว แต่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งเป็นผลของฐานวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่มองว่าผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม และอื่นๆอาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายตัวหัวของนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้ เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางระยะสั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างต่ำ

ขณะเดียวกันเม็ดเงินที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐบาลก็ไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก แต่คาดว่าจะมีผลในปี 2567 เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงต้องโฟกัสนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่อาจจะมีปัจจัยช่วยทำให้เศรษฐกิจโตได้เร็วในปีหน้า โดยแนวโน้มข้างหน้า เศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวที่ยังแรง และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับภาคการส่งออก อีกทั้งรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา น่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากดูตามเครื่องยนต์ที่เข้ามาทั้งหมด ยังเป็นไปในทิศทางกระตุ้น ดังนั้นมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะโตได้มากกว่าปีนี้

สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น เม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทจะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3% ของ GDP การที่นโยบายเงินดิจิทัลดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้กี่รอบ แม้ว่าอาจจะกระทบให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับอดีต เพราะ 1 รอบเท่ากับ 3% อย่างไรก็ดี ธปท.ยังไม่ได้นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลเข้าไปอยู่ในสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้า แต่ประเมินแล้วว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินดิจิทัลมีมุมมองความเสี่ยงเชิงบวก แต่ทั้งนี้ต้องประเมินเรื่องของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลด้วย