วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการไปเยือนจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในโอกาสครบรอบ 15 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานครกับฟูกูโอกะ ได้รับแรงบันดาลใจการแต่งกายระหว่างปฏิบัติหน้าที่เพื่อลดโลกร้อน เช่น สวมเสื้อแขนสั้นมาทำงานแทนเสื้อแขนยาว เพื่อลดความร้อน และประหยัดค่าผงซักฟอกในการซัก เป็นต้น

 

ดังนี้ จึงนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ในหน่วยงาน กทม. โดยกำหนดแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พ.ศ.2564-2573 มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 19 ภายในปีพ.ศ.2573 และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นยุทธศาสตร์ย่อยที่ 2.3 สังคมคาร์บอนต่ำและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นยุทธศาสตร์ย่อยที่ 2.4 เมืองที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายคาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) มีเป้าหมายให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2569 ประกอบด้วย

 

1.การคำนวณ (Calculate) ปริมาณการใช้พลังงาน 2.การลด (Reduce) ปริมาณการใช้พลังงานโดยการเปลี่ยนอุปกรณ์ฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนพฤติกรรมของข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร 3.การดูดซับคาร์บอน (Ofset) โดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานหรือส่วนราชการมีการดำเนินโครงการ/กิจกรรมอนุรักษ์พลังงานต่าง ๆ ให้สอดรับกับแผนแม่บท แผนพัฒนา และนโยบายดังกล่าว ประกอบกับภูมิอากาศของประเทศไทยมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น มีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 18-38 องศาเซลเชียส ช่วงฤดูร้อนยาวนานดังนั้น เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรกรุงเทพมหานครทุกคนมีส่วนร่วม เกิดความตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดใช้พลังงานของกรุงเทพมหานครตามแผนแม่บท แผนพัฒนา และนโยบายดังกล่าว จึงขอความร่วมมือ ดังนี้

 

1.กำหนดเวลาเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศในอาคารสำนักงาน ห้องทำงานผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และห้องประชุมต่าง ๆ โดยปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้น หรือไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส 2.การแต่งกายขณะปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานและการประชุม เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ใส่สบาย แต่ไม่บางจนเกินไป สวมใส่เสื้อผ้าที่ยับยาก รีดง่าย หรือไม่จำเป็นต้องรีด สวมใส่เสื้อแขนสั้น หรือชุดลำลอง (Casual) เช่น เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล เสื้อฮาวายเป็นต้น

 

ทั้งนี้ การแต่งกายดังกล่าวควรคำนึงถึงรูปแบบและความนิยมสำหรับโอกาส กาลเทศะ ความสะอาด ความสุภาพเรียบร้อย รูปแบบเครื่องแต่งกายที่กำหนดสำหรับงานพิธีการที่ไปร่วม โดยให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล และคำนึงถึงการแต่งกายให้เหมาะสมแก่ลักษณะที่ควรแก่วิชาชีพ (Professionalism) ของแต่ละบุคคลด้วย