นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย คพ. ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการดําเนินงานและถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 ปีงบประมาณ 2566 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน ผลจากการถอดบทเรียน สาเหตุของหมอกควันข้ามแดนมาจากการเพาะปลูกพืชเกษตรทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการเผาตามวิถีชีวิต การเผาตามความเชื่อ 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะด้านต่างๆ อาทิ 1) กฎหมาย/กฎระเบียบ เช่น การมีระบบ Single Command อย่างแท้จริง การเปลี่ยนจากกำหนดวัน D-Day การห้ามเผาเป็นการบริหารการเผาตามช่วงเวลาและพื้นที่ 2) นโยบาย/แผน เช่น การจัดทำ Action Plan และการกำหนด KPI มาจากระดับพื้นที่โดยสอดคล้องกับทิศทางของนโยบาย ควรมีศูนย์ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง 3) เครื่องมือ/กลไก เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ภาคเอกชนที่ส่งเสริมหรือช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำการเกษตรที่ไม่เผา ข้อตกลงทางการค้าในมิติด้านสิ่งแวดล้อม การปรับวิถีอาเซียนเรื่องสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติข้ามแดน การใช้กลไกบ้านพี่-เมืองน้อง 4) การสื่อสาร เช่น ให้มีการจัดทำสื่อ/องค์ความรู้ที่สามารถสื่อสารกับภาคประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารตลอดทั้งปี และ 5) สุขภาพอนามัย เช่น ให้มีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น/แจกอุปกรณ์/เครื่องฟอกอากาศในระดับชุมชนหรือครัวเรือน  โดยเน้นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง การจัดหาสินค้าที่มีมาตรฐานและราคาไม่แพง ทั้งนี้ คพ. จะนำข้อมูล ข้อเสนอแนะต่างๆ จากการถอดบทเรียนไปจัดทำเป็นแผนเฉพาะกิจประจำปี และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ ฉบับที่ 2 ต่อไป