ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 เกิดเหตุเครื่องบินตกในเส้นทางระหว่าง มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และในเครื่องบินนั้นมีรายชื่อของนายเยฟกินี พริโกซิน เจ้าของบริษัททหารรับจ้าง PMC WAGNER ซึ่งมีวีรกรรมเป็นที่ยอมรับในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่การกำจัดกองทหารนีโอนาซี-อาซอฟ และยึดเมืองมาริอูโปล ในภาคใต้ของยูเครน ตลอดจนหลังสุดสามารถยึดเมืองบัคมุต ในเขตดอนบาส ที่เป็นเมืองสำคัญ ที่ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอย่างดุเดือดและยืดเยื้อมานานนับเดือน
กองกำลังวากเนอร์นี้ นอกจากจะมีปฏิบัติการในยูเครนแล้ว ยังมีปฏิบัติการอยู่หลายแห่งในแอฟริกา เช่น ที่ซูดาน มาลี บูร์กินาฟาโซ และกินี และบางส่วนก็ทำหน้าที่คุ้มกันเหมือนทองคำที่รัสเซียได้รับสัมปทาน
สุดท้ายเกิดความขัดแย้งระหว่างนายพริโกซิน และพล.อ.ชอยกู รมว.กลาโหมรัสเซีย จนทำให้กองกำลังวากเนอร์ก่อกบฏยึดเมืองรอสตอฟทางใต้ของรัสเซีย และเคลื่อนกำลังจะไปประท้วงที่มอสโก แต่ก็ได้รับการประสานงานจากประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส จึงยุติเรื่องลงได้ และเคลื่อนกำลังไปลี้ภัยในเบลารุส
แม้การก่อกบฏจะมีโทษหนัก แต่ประธานาธิบดีปูตินก็มิได้เอาโทษ เพราะต้องการรักษาขุมกำลังของกองกำลังวากเนอร์เอาไว้
ทว่าก็มาเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก และขณะนี้ทางการรัสเซียได้ออกมาแถลงว่า ผลจากการตรวจดีเอ็นเอ ยืนยันว่าพริโกซิน อยู่ในเครื่องบินและเสียชีวิตแล้ว
อย่างไรก็ตามการตายของพริโกซิน ก็ยังคงมีข้อเคลือบแคลงที่ต้องวิเคราะห์และอาจมีผลกระทบชิ่งต่อการเมือง การทหารของรัสเซีย ตลอดจนความขัดแย้งในยูเครน ยุโรป และนาโต ดังข้อพิจารณาเงื่อนงำ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ของคำถามคือ พริโกซิน ตายจริงหรือไม่ แม้น้ำหนักจะเอนเอียงไปในทางที่ว่ามีการพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้ว โดยทางการรัสเซียและยืนยันว่าเสียชีวิตจริง แต่ถ้ามันเป็นการสมคบคิดกัน โดยมีประธานาธิบดีปูติน กับพริโกซิน ร่วมกันจัดฉาก อะไรๆก็เป็นไปได้
ต่อคำถามคือถ้าเป็นการจัดฉากแล้วปูตินจะได้อะไร คำตอบก็คือก็ยังเก็บเอาพริโกซินไว้ใช้ได้ ในฐานะคนใกล้ชิดไว้วางใจ แต่พริโกซิน ก็ต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่ และจัดบทบาทใหม่ในการเคลื่อนไหวตามแนวถนัดของตน ส่วนปูตินก็จะได้ลดแรงกดดันทางการเมืองของฟากฝั่งตรงข้ามที่พยายามขุดคุ้ยให้มีการลงโทษ พริโกซิน โทษฐานกบฏ ซึ่งถ้าปูตินลงโทษก็จะเกิดปฏิกิริยาจากผู้สนับสนุนพริโกซินได้
ประการที่สองการตายของพริโกซิน ในกรณีที่ไม่ใช่การจัดฉากเป็นฝีมือใคร
ผู้ต้องสงสัยรายแรกก็ต้องเป็นประธานาธิบดีปูติน เพราะมีบางกระแสของข่าวอ้างว่าปูตินเป็นคนที่อาฆาตแค้นถ้ามีใครหักหลังตนและการกระทำของพริโกซิน ในการก่อกบฏก็เหมือนการหักหลัง แม้จะประนีประนอมกันได้เพราะลูกาเชนโกก็ตาม
แต่ปูตินไม่ต้องการลงโทษอย่างเป็นทางการ จึงใช้แผนลอบสังหาร ซึ่งบางกระแสว่าใช้ S-300 บางกระแสว่าเป็นการวางระเบิดจากภายใน โดยในขณะนี้ก็กำลังมีการสืบสวนกันอยู่ถึงสาเหตุการตกของเครื่องบิน
ทว่ามีข่าวทางการรัสเซียออกมาว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งก็ยังไม่มีการยืนยัน
ผู้ต้องสงสัยรายที่สอง ก็คือหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ ที่เคยมีข่าวไม่เป็นทางการ แต่พาดพิงว่ามีการจ่ายเงินผ่านทางยูเครนให้พริโกซินถึง 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ก่อกบฏล้มปูติน แต่พริโกซินเบี้ยวไม่ดำเนินการตามแผน ซึ่งถือว่าเป็นการหักหลังจึงต้องจัดการให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่นๆ หรือในสถานการณ์อื่นๆ
งานนี้สหรัฐฯสามารถโยนบาปให้ปูตินได้อย่างเนียนๆ เพราะมันเกิดขึ้นในดินแดนรัสเซีย และจะสร้างความปั่นป่วนกับปูตินได้ ไม่มากก็น้อย หากผู้สนับสนุนพริโกซินเชื่อตามนี้ และรัสเซียก็ยอมรับไม่ได้ว่าเป็นฝีมือ ซีไอเอ เพราะมันจะเสียหน้ามาก
ประการที่สาม เมื่อพริโกซินเสียชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดฉากหรือตายจริง จะมีการบริหารจัดการกับกองกำลังวากเนอร์อย่างไร เพราะทางการรัสเซียก็มีการออกข่าวว่า บริษัทในลักษณะนี้มันผิดกฎหมายรัสเซีย
ข้อสันนิษฐานที่ควรพิจารณาคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะทำให้รัสเซียได้โอกาสตัดความเกี่ยวพันของรัสเซียกับกองกำลังวากเนอร์ ซึ่งต่อไปอาจเปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนบริษัทโดยอาจไปจัดตั้งในประเทศอื่นที่สามารถทำได้
ดังนั้นหากกองกำลังกลุ่มนี้จะไปปฏิบัติการในประเทศใดก็ไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นปฏิบัติการของรัสเซีย กรณีอย่างนี้มันคล้ายกับกองกำลังก่อการร้ายไอเอส ที่หาผู้รับผิดชอบโดยตรงไม่ได้ แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าใครหนุนหลังและใครได้ประโยชน์
กรณีของกองกำลังวากเนอร์นี้ก็อาจจะเป็นกองกำลังที่จะไปเป็นตัวป่วนในยุโรป แถบโปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนียได้หรือไม่ นอกจากจะไปมีปฏิบัติการในแอฟริกา
และเรื่องนี้มันจะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคู่ขัดแย้งหรือไม่ เช่น กรณีการยึดอำนาจที่ไนเจอร์ ทั้งรัสเซีย และสหรัฐฯ ต่างก็ไม่ต้องการให้ท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากไนจีเรีย ผ่านไนเจอร์ไปแอลจีเรีย และข้ามไปยุโรปเพื่อเปิดใช้งานได้ เพราะมันจะทำให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากสหรัฐฯและรัสเซีย รวมทั้งการขายแร่ยูเรเนียมที่รัสเซียมีส่วนแบ่งตลาดสูงและสหรัฐฯเป็นลูกค้ารายใหญ่
ผู้เสียประโยชน์จากการยึดอำนาจที่ไนเจอร์จึงมีแต่ฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่กล้าส่งทหารไปบุก เพราะกลัวตกหล่ม จึงพยายามใช้ตัวแทนในแอฟริกาให้ทำการแทน ซึ่งก็ยังไม่มีใครกล้าลงมือ เพราะเขากำลังจับอาการของสองมหาอำนาจอยู่
ด้านยูเครนนั้น แน่นอนก็ต้องชี้เป้าการเสียชีวิตของพริโกซินว่าเกิดจากน้ำมือของประธานาธิบดีปูติน โดยมีประธานาธิบดีเซเลนสกีออกมาขยี้ในประเด็นนี้
นอกจากนี้ในประเด็นของยูเครน ประธานาธิบดีเซเรนสกียังให้สัมภาษณ์กับสื่อของอิสราเอลว่า ยูเครนเหมือนอิสราเอลคือจะสู้ต่อไปไม่ยอมหยุดจนกว่าจะได้ดินแดนทั้งหมดที่ต้องการ
แต่ในกรณีอิสราเอลนั้นมันต่างจากยูเครน เพราะอิสราแอลเป็นฝ่ายไปรุกรานและแย่งยึดเอาดินแดนของเขา ส่วนยูเครนนั้นถูกรัสเซียยึดดินแดนที่มีเชื้อสายรัสเซีย ส่วนใหญ่อาศัย เช่น ดอนบาส รวมแคว้นทั้ง 4
ถ้าจะเปรียบเทียบให้ตรงหน่วยก็ต้องเทียบว่ายูเครนเหมือนกับปาเลสไตน์ แต่ถ้าเทียบอย่างนั้น นักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย และอธิปไตยเหนือดินแดนที่ออกมาสนับสนุนยูเครนจะอ้างหลักการอะไรในการสนับสนุนอิสราเอล โดยเฉพาะในขณะนี้ยิ่งชัดเจนว่ารัฐบาลอิสราเอลไม่ใช่ประชาธิปไตยเหมือนที่เคยอ้าง แต่นี่มัน 2 มาตรฐานชัดๆ
หรือสหรัฐฯจะใช้ยูเครนไปทำให้รัสเซียอ่อนแอ โดยตนเองไม่สูญเสียแต่ยูเครนแหลกยับ
จึงเห็นได้ว่าการเมืองระหว่างประเทศมันซับซ้อนมากจริงๆ แต่ก็ใช่ว่าการเมืองไทยจะไม่ซับซ้อน และจะก่อให้เกิดปัญหาบานปลาย หรือไม่ต้องติดตาม เพราะตอนนี้มันเละไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม จริยธรรม หรือมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม
ก่อนถึง New World Order มาช่วยกันคิดเรื่อง Thailand Order กันก่อนดีไหม โลกว่าร้อนแต่ไทยอาจร้อนกว่า นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของญี่ปุ่นที่เขาประท้วงกันหลายประเทศ แต่ไทยยังเฉย อ้าววกมาได้ไง...ฮ่า ฮ่า ฮ่า