เมื่อวันที่ 29 ส.ค.66 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า  ซื้อที่ดินแพงแค่ไหน ไม่ติดคุก..

หน่วยงานรัฐต้องการซื้อที่ดิน จะตั้งงบยังไงในเมื่อราคากลางไม่มี ผู้ลงนามอนุมัติแม้บริสุทธิ์ใจแต่วันข้างหน้าอาจโดนคดี การหาราคาอ้างอิงเพื่อกำหนดราคาจัดซื้อจะทำอย่างไรได้บ้าง?

ราคาที่ดินที่ซื้อขายจริงมักสูงกว่าราคาประเมินของทางการ บางกรณียิ่งแพงมากหากต้องซื้อแบบทางเลือกจำกัด เช่น ต้องซื้อที่ดินแปลงติดกันเพื่อขยายทางเข้าออกหรือขยายพื้นที่ ดังนั้นการกำหนดราคาและเลือกแปลงที่ดินจึงต้องวางแนวทาง กติกา แหล่งอ้างอิงให้ชัดเจน ยึดหลักธรรมาภิบาลเข้มงวด เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดีหรือต้องชดใช้คืนในอนาคต

วิธีหาราคาอ้างอิงเพื่อจัดซื้อในกรณีไม่ปรกติ อาจกำหนดจาก

1. ราคาที่หน่วยราชการอื่นเคยซื้อ ในทำเลและช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

2. ราคาประเมินโดยบริษัทประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ ควรมีมากกว่าหนึ่งรายพร้อมกันแล้วใช้ราคาเฉลี่ย วิธีนี้ควรเลือกบริษัทที่หน่วยงานรัฐรับรอง เช่น กลต. จะน่าเชื่อถือกว่า

3. ใช้ข้อมูลราคาจากหน่วยงานที่มีประสบการณ์มาก เช่น การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์การมหาชน)

4. ซื้อตามแนวทางที่หน่วยงานกำกับดูแลได้วางไว้ เช่น กลต. หรือ สคร. เป็นต้น

อย่าอ้างเพียงแค่ราคาที่เอกชนเสนอมาแม้มีหลายราย เว้นแต่พิสูจน์ได้ง่ายว่า เงื่อนไขของแปลงที่ดินที่ “แข่งกัน” เสนอมานั้นไม่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การซื้อ

พึงระลึกว่า การสืบราคาโดยบุคลากรของหน่วยงานเอง ไม่ช่วยให้ผู้สั่งการพ้นผิดได้

คอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินทำให้คนอนุมัติต้องติดคุกไปมากแล้ว เหตุเพราะรับสินบน ซื้อแพง ซื้อที่ตาบอด ที่ดินติดจำนองหรือคดีพิพาท เข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ

แต่ที่สร้างหายนะมากที่สุดคงเป็น “โครงการบ้านเอื้ออาทร” การเคหะแห่งชาติ ที่มีทั้งซื้อที่ดินเปล่า และซื้อแบบจ้างเหมาโครงการรวมที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทำให้การเคหะฯ ขาดทุนแบกหนี้ต่อเนื่องนับหมื่นล้านบาทตั้งแต่เริ่มโครงการฯ จวบจนปัจจุบัน

#ราคากลาง #ซื้อที่ดิน #คอร์รัปชัน #จัดซื้อจัดจ้าง #ธรรมาภิบาล #ActAi #ACTกันไว้เถิด

 

 

ขอบคุณ  เฟซบุ๊ก มานะ นิมิตรมงคล