วันที่ 31 ส.ค.66 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โฟสต์ภาพ "ซูเปอร์บลูมูน" พร้อมข้อความระบุว่า...

ภาพ #ซูเปอร์บลูมูน คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 20:15 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 357,185 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงไกลโลกที่สุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 01:40 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,813 กิโลเมตร แสดงให้เห็นขนาดปรากฏที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

คืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดในรอบปี เรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” และยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ “บลูมูน” จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “ซูเปอร์บลูมูน” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะใกล้โลกที่สุดกับดวงจันทร์เต็มดวงขณะไกลโลกที่สุดแล้ว อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าถึง 14% และสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็นผลจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ ในช่วงหัวค่ำของคืนดังกล่าวยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างข้างดวงจันทร์อีกด้วย

ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ส่วนปรากฏการณ์บลูมูนครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2569

ขอบคุณข้อมูลภาพ : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ