"เศรษฐา" ลั่นหลังประชุม ครม. นัดแรก ลด"ค่าไฟ-น้ำมัน" เริ่มได้ทันที พร้อมน้อมรับคำวิจารณ์รายชื่อ ครม.ขอให้วัดที่ผลงาน บอกสเปกหัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องอยู่มานานรอบรู้  เร่งคุย "พรรคร่วมฯ" เตรียมแถลงนโยบาย เดินหน้าแก้วิกฤตประเทศ "อดิศร" เผยได้นั่ง "ปธ.วิปรัฐบาล" ระบุ "ชลน่าน" เตรียมลาออกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ "กิตติรัตน์-นพดล" เหมาะสมเป็นหัวหน้าคนใหม่ พิเชษฐ์ นัดเคาะสัดส่วนพรรคการเมืองนั้ง กมธ.สามัญ 35 คณะ 31 ส.ค.นี้ แจงไทม์ไลน์เร่งเสร็จให้เสร็จ 13 ก.ย. ประชุมนัดแรก 14 ก.ย.เลือก "ปธ. - รอง ปธ." ไม่รอเลือกตั้งซ่อม จ.ระยอง สัดส่วนปรับเปลี่ยนโยน "วิป" ไปถอยกันเอง ขณะที่ "เรืองไกร" ร้องสอบ "ชาดา" เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 6 ล้าน แต่แจ้งรายได้รวมต่อปี 28 ล้าน

 ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 30 ส.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้การต้อนรับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อหารือถึงการส่งไม้ต่อในการทำงานด้านเศรษฐกิจรวมถึงการจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภา

 จากนั้น เวลา 12.50 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีการหารือเรื่องของราคาพลังงาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ก็ได้ฝากฝังไว้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือขั้นตอนในการลดราคาค่าไฟกับค่าน้ำมันดีเซล โดยจะมีประกาศหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกแน่นอน เมื่อถามย้ำว่า หลังการประชุมครม. นัดแรกจะสามารถลดได้ทันทีแน่นอนใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ทันทีครับทันที ประกาศทันทีและขอดูขั้นตอนนิดหนึ่ง ก่อนจะย้ำว่าทำงานไม่หยุด เพราะต้องดูนโยบายอื่นๆด้วย และถือว่า นายสุพัฒนพงษ์ให้ความกรุณาและยินดีส่งไม้ต่อให้ด้วยความราบรื่น

         นายเศรษฐา ยังให้สัมภาษณ์กระแสการวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีใน "ครม.เศรษฐา 1" ว่า เราต้องให้เกียรติทุกฝ่าย ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและผู้ประสานงานในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องทำอีกมาก และมีเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน เราจะวัดกันที่ตรงนี้และทุกคนต้องเริ่มทำงานทันที

 เมื่อถามว่าภารกิจสำคัญในช่วงต้นดูเหมือนจะเน้นไปที่เป้าหมายด้านการท่องเที่ยว นายเศรษฐา กล่าวว่า ในเรื่องการท่องเที่ยวได้เน้นย้ำโดยตลอดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ดีที่สุด และเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันในเดือนต.ค.แล้ว ซึ่งจากการลงพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ก็ได้คุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องแผนพัฒนาและการสนับสนุน ทั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การบินไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องการดูแลความปลอดภัย อีกทั้งยังได้พบปะพูดคุยกัยกับทางสถานทูตจีนก็สนับสนุนและเห็นชอบเรื่องของนักท่องเที่ยวจีนที่เราจะยกเลิกการขอวีซ่า ก็หวังว่าได้รับการตอบสนองที่ดีจากทุกภาคส่วน จากนั้นก็จะมีการอธิบายให้เห็นได้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างไรและเห็นผลเมื่อไหร่

 เมื่อถามว่าสำหรับความคืบหน้าในการจัดเตรียมนโยบายรัฐบาลนั้น นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และวันนี้ (28 ส.ค.)  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมคณะจะเข้ามาพูดคุย เพราะเราอยากให้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าไปได้

 เมื่อถามถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การมีชื่อนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพลเรือนมารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม  นายเศรษฐา กล่าวว่า นายสุทิน เป็นนักการเมืองอาวุโส เป็น สส.มาหลายสมัยและให้เกียรติผู้อื่นเสมอ เชื่อว่าจะสามารถประสานงานกับกองทัพได้ดี ซึ่งตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็จะเข้าไปช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าทุกหน่วยงานได้รับการดูแล เอาใจใส่แล้วจะพูดคุยอย่างเหมาะสมแล้วก็สมฐานะ

 เมื่อถามถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการยื่นเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้ แต่เชื่อว่าทั้ง 4 ท่านเป็นบุคคลที่เหมาะสม ในการเข้าดำรงตำแหน่ง ก็เหลือเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งว่าอาจใช้เวลาประมาณ 2 วัน

 เมื่อถามถึงกระแสข่าว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องให้เกียรติ นพ.ชลน่าน ประกาศเรื่องนี้เอง ซึ่งนพ.ชลน่าน เป็น สส.หลายสมัย ทำประโยชน์กับพรรคเพื่อไทยมานาน ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ก็คงจะยังช่วยเหลือพรรคและดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป

 "เรื่องนี้ นพ.ชลน่านประกาศไว้นานแล้วว่า หากมีการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย เสร็จภารกิจ ท่านก็จะประกาศลาออก นายกฯกล่าวและว่า สำหรับผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยต่อนั้นก็คงจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถรอบรู้ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม 

 ที่รัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมพรรคเพื่อไทย ซึ่งนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้แสดงเจตจำนงต่อที่ประชุมว่าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตามที่เคยกล่าวไว้หลายครั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับพรรค  2 ลุง หากจับมือกันจะขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งทำให้คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันหลุดออกไปทั้งหมด และจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันหลังจากที่นพ.ชลน่านลาออก ส่วนตัวรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับการเป็นหัวหน้าพรรคของ นพ.ชลน่าน อยากให้กลับมาเป็นหัวหน้าอีกครั้ง อย่างไรก็ตามขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีแคนดิเดตหัวหน้าพรรค แต่ส่วนตัวเห็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และอดีตรมว.คลัง หรือนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรมว.ต่างประเทศ มีความเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคได้

 เมื่อถามว่า การลาออกของนพ.ชลน่าน จะลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายอดิศรกล่าวว่า คงไม่เกิดขึ้นเพราะผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่ด่าก็ด่าอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา เราก็บริหารกันไป เพราะวันที่ 8 หรือ 9 ก.ย.นี้ ก็แถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว เราจะได้บริหารประเทศจะเหลือก็แต่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ยังไม่มีใครรับ

 เมื่อถามว่า มาตรฐานของ นพ.ชลน่าน ต่ำกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะยังไม่ได้ลาออกจากการเป็น สส. อีกทั้งยังได้เป็นรัฐมนตรีอีกด้วย นายอดิศร กล่าวว่า เราไม่กล้าอาจเอื้อมไปถึงนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นหัวหรือเป็นหาง

 เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรค 2 ลุง จะเป็นฝ่ายค้านอิสระตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่า ตนมีความคิดไม่แตกต่างกับนพ.ชลน่าน แต่ได้ถูกวางตัวให้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) แล้วซึ่งจะต้องประสานงานและดูระเบียบวาระการประชุม เช่น การจัดทำประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น และดูกฎหมายของทุกพรรคการเมือง ซึ่งตนก็เป็นคนชอบสภา จึงขออนุญาตทำหน้าที่เป็นประธานวิปรัฐบาล ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี

 เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่รัฐมนตรี 2-3 คน จะไม่ผ่านคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี โดยเฉพาะ นายพิชิต ชื่นบาน ทนายของตระกูลชินวัตร ที่จะเป็นรองนายกรัฐฒนตรี นายอดิศร กล่าวว่า ไม่มีใครขาดคุณสมบัติ สำหรับนายพิชิตไม่ได้ทำความผิดและพ้นเวลาละเมิดอำนาจศาลมาแล้ว ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่รู้สึกเสียดายนายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่มีชื่อว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ครั้งแรก ที่พูดไม่ได้ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แต่นายชูศักดิ์ มีลักษณะที่คล้ายกับนายวิษณุ เครืองาม ตนจึงเป็นห่วงว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลจะแข็งพอหรือไม่ และความสามารถของนายชูศักดิ์ก็เป็นที่ยอมรับซึ่งก็ได้แต่แสดงความเป็นห่วง

 เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรไม่ให้การประชุมสภาล่มเหมือนที่ผ่านๆมา นายอดิศร ยอมรับว่าสิ่งที่สส.ทำยากที่สุด คือการมาประชุมสภาไม่เหมือนตอนหาเสียง แต่ก็ขอร้องว่าถ้าทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือกฎหมายก็จะผ่าน เมื่อถามย้ำว่าเหตุใดสส.จึงมาประชุมยากที่สุด นายอดิศร กล่าวว่า เพราะมีคนมาหามาพูดคุยซึ่งเป็นมาทุกสมัย

 เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่การันตีว่าการประชุมจะไม่ล่มใช่หรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่าเชื่อมั่นว่าคะแนนที่รัฐบาลได้ 300 กว่าเสียง น่าจะพอในการที่จะบริหาร แต่ก็ขอร้องให้ทุกพรรคเข้าร่วมประชุม ไม่ใช่ว่าประธานวิปไปหาสส. ตนขอเป็นเบ้ให้สภาเสียครั้งหนึ่ง
 ด้าน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญทั้ง 35 คณะ ว่า ตนได้รับมอบหมายจากประธานสภาผู้ผู้แทนราษฎร ให้จัดการให้มีคณะกรรมาธิการให้เร็วที่สุด และได้ทำหนังสือนัดให้แต่ละพรรคส่งตัวแทนมาพรรคละ 2 คนให้มาประชุมร่วมกันในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อแจ้งให้ทราบว่าทุกพรรคจะได้สัดส่วนนของ กมธ.กี่คณะที่จะได้เป็นประธาน จากนั้นก็ให้แต่ละพรรคการเมืองกลับไปปรึกษาหารือในพรรคของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพรรคว่าเชี่ยวชาญหรือชอบกรรมาธิการ 35 คณะมีอะไรบ้าง จากนั้นวันที่ 7 ก.ย.นี้ จะให้ทุกพรรคมาประชุม โดยตนเป็นประธาน เพื่อหาวิธีการเลือกประธานของแต่ละคณะว่าพรรคไหนจะได้คณะกรรมาธิการคณะไหน โดยวิธีการจับฉลาก หรือตกลงกัน ถ้าตกลงกันได้ก็ตกลงกัน ให้เป็นความพอใจของทุกพรรค เมื่อได้ประธานของแต่ละพรรคแล้ว วันที่ 12 ก.ย.ให้ทุกพรรคให้ส่งรายชื่อ 500 คนมาว่าสมาชิกท่านใดจะไปสังกัดอยู่คณะไหนใน 35 คณะ และในวันที่ 13 ก.ย.จะมาเสนอชื่อในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า แต่ละมี สส.อยู่ในคณะนั้นบ้าง จากนั้นในวันที่ 14 ก.ย.ให้มีการประชุมนัดแรกเลย เพื่อเลือกประธาน รองประธาน กรรมาธิการ โฆษกฯเพื่อจะได้เริ่มทำงานกันทันที

 เมื่อถามว่าตำแหน่งประธาน กมธ.ต่ละพรรคจะได้กี่คณะ นายพิเชษฐ์ กล่าวยกตัวอย่างว่า พรรคก้าวไกลตอนนี้มี สส.150 คน อยู่ระหว่างการเลือกตั้งถ้าได้ 151 คน สัดส่วนก็จะได้ 11 คณะ แต่ถ้ามี 150 คน ก็จะได้ 10 คณะ ไม่รอการเลือกตั้งดำเนินการไปก่อน แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคก้าวไกลชนะ สัดส่วนอาจจะเปลี่ยน จากนั้นก็ให้วิปของแต่ละพรรคมาพูดคุยกันได้ ว่าจะถอยกรรมาธิการอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิปจะพิจารณา เพราะในงบประมาณปีนี้มีโอกาสทำงานในกรรมาธิการเพียง 15 วัน ก็อาจจะไปตั้งกรรมาธิการและกำหนดว่าขอบข่ายงานปีนี้ และปีหน้าอย่างไร

 เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลระบุว่าไม่อยากให้คนนั่งประธานกมธ. ตรงกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงของรัฐบาล นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุมในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และในวันที่ 7 ก.ย.ว่าจะตกลงกันอย่างไร ซึ่งจะให้พรรคตกลงกันเอง เพราะมีเวลา 1 สัปดาห์ที่จะไปคุยกัน และมาเลือกกันในวันที่ 7 ก.ย.นี้

 วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พชปร.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ ส.ส.ที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมีการเปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.กว่า 500 คน นั้น พบข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบนับร้อยราย วันนี้เป็นกรณีของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ในเรื่องภาษีเงินได้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการให้กรมสรรพากรตรวจสอบต่อไป ดังต่อไปนี้

 ข้อ 1. นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มี.ค.66 โดยระบุข้อมูลรายได้ ดังนี้ รายได้ค่าตอบแทน 1,362,720 บาท รายได้ค่าที่ปรึกษา 600,000 บาท รายได้ค่าเช่าแผงเนื้อ 600,000 บาท รายได้ค่าขายนาฬิกา 1 เรือน 8,000,000 บาท รายได้ค่าอ้อย 450,000 บาท รายได้ธุรกิจค้าโค-กระบือ 10,000,000 บาท