ฝนมาคราใด หัวใจคน 17 จังหวัดทางภาคเหนือฟูขึ้น ชุ่มชื่นขึ้น จากการได้วิถีชีวิตปกติกลับคืนมา ได้ออกไปพบปะผู้คน หลังเก็บตัวอยู่ในบ้านมานานนับเดือนในช่วงที่ผ่านมา ก็เพราะฝนช่วยชะล้างหมอกควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 ไปจนหมด หลังปีนี้ผจญสถานการณ์หนักกว่าทุกปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -พฤษภาคม จุดชนวนให้คนไทยเรียกร้อง “สิทธิมนุษยชน” ในการเข้าถึงอากาศสะอาด เป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐพึงคุ้มครอง ซึ่งการขับเคลื่อนกฎหมาย “อากาศสะอาด” จำเป็นต้องสร้างการรับรู้และเข้าใจปัญหาแบบครบวงจร มีการระดมสมองแก้ปัญหาให้ตรงจุดและหยุดปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน 

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ของไทย กระจายกันอยู่กับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เจ้าภาพหลักหนีไม่พ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ทำให้แยกกันทำตามข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ไขแบบองค์รวม ที่จำเป็นต้องเรียนรู้รากเหง้าของปัญหา รู้ต้นเหตุ ศึกษาปัจจัยแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ต่อประชาชน และต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การหยุดปัญหาอย่างยั่งยืน 

การศึกษาปัจจัยแวดล้อมอย่างถ่องแท้นับเป็นความจำเป็นที่ต้องรับรู้ในการแก้ปัญหา เช่น การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ การคัดเลือกพันธุ์พืชให้เหมาะกับพื้นที่ (สภาพของดินและปริมาณน้ำสำหรับเพาะปลูก) ช่องทางการตลาด ควันที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง ข้อจำกัดของคนในชุมชน ชนกลุ่มน้อยและชนเผ่า ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา และลาว รวมถึงภาคปศุสัตว์ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ตกเป็นจำเลยของ “การเผา” รวมถึงการเผาซึ่งเป็นวิถีชุมชนเพื่อ “หาของป่า” ภาครัฐต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แบบองค์รวมไม่ควรตัดส่วนใดออก

โดยเฉพาะการแผ้วถางป่าของชนกลุ่มน้อยหรือชนเผ่า ต้องพิจารณาด้วยความยุติธรรม ว่า เป็นการกระทำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำที่คนเหล่านั้นไม่อาจเข้าถึง ตลอดจนการปัญหาการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน การปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่ประเทศไทยไม่อาจก้าวล่วง ล้วนเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหา ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการเจรจาหรือให้ความช่วยเหลือเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ดีกว่าความพยายามหา “แพะ” จากภาคอุตสาหกรรมมารับผิดชอบ

นอกจากนี้ การใช้หลักฐานเชิงวิทยาศาตร์ (Science-Based Research) ร่วมตรวจสอบจุดความร้อนที่เกิดจากการเผา จะช่วยให้การแก้ปัญหาเกิดความแม่นยำ เช่น ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ( Suomi NPP) ซึ่งรายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ทำการสำรวจจุดความร้อนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีมาตรฐานสากลช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 ในภาคเหนือ 17 จังหวัด พบจุดความร้อนเกิดมากที่สุด คือ พื้นที่เขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีจุดความร้อนสูงถึง 95.6% และ 78.6% ของพื้นที่ ตามด้วยชุมชนและอื่นๆ 75.4% (จากการเผาไหม้และหุงหาอาหาร) ขณะที่พื้นที่การเกษตรคิดเป็น 20.8% โดยเฉพาะนาข้าว มีจุดความร้อนสูงสุดคือ 56. 6% ของพื้นที่ ขณะที่ ข้าวโพดและอ้อย ค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ 10% จากตัวเลขเห็นได้ว่านาข้าวมีการเผาสูงกว่าข้าวโพดและอ้อยถึง 4 เท่า ซึ่งต่างจากความเชื่อตามมายาคติของกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ออกมาจากมุมของตนเอง

การสร้างความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายอากาศสะอาดมีความละเอียดอ่อน ไม่ควร “ปักธง” มองปัญหาด้านเดียว ขาดข้อแนะนำที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และควรเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ให้ปัญหาวนกลับมาอีก อย่าปลุกกระแสหรือชี้นำสังคมด้วยปัญหานี้ เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมให้สมประโยชน์ทุกภาคส่วน (win-win benefit)

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ต้องกำหนด “กฎหมายอากาศสะอาด” ไว้ในวาระแห่งชาติลำดับความสำคัญเร่งด่วน เพื่อสร้างแนวร่วมป้องกันประเทศ ทบทวนหรือยกเลิกนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร ที่ส่งเสริมการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างไม่ถูกต้อง (เพื่อหวังผลทางการเมือง) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตต่อไร่ การกำหนดพื้นที่ปลูกพืชเกษตร (Zoning) การจัดหาแหล่งน้ำ การพัฒนาช่องทางการตลาด ใช้ข้อเท็จจริงและข้อมูล ประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาให้ตรงจุดและถูกทาง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศในอนาคต

โดย : ไศลพงศ์ สุสลิลา นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม