จากกรณีที่เป็นกระแสดราม่าร้อนแรง #ปังชา จนติดเทรนด์ หลังมีข่าวร้านดังยื่นฟ้อง ร้านค้ารายย่อยที่ใช้ชื่อว่า "ปังชา" เป็นจำนวนเงิน 102 ล้านบาท ต่อมา ทางร้านดังได้ออกมาชี้แจงพร้อมขอโทษ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด ทนายนิด้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมแนบภาพอธิบาย ระบุข้อความว่า...
ถ้าตามเอกสารฉบับนี้ มีความหมายว่า มีการยื่นคำขอจด เครื่องหมายนะคะ เครื่องหมายก็คือรูปภาพในกรอบสีเขียว ก็คือยื่นคำขอจดรูปภาพนี้ทั้งภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้หญิง ถ้วยชา พร้อมคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ปรากฏในภาพด้วย ในหมวดรายการสินค้าและบริการตามกรอบสีแดง
ในภาพปรากฏประเด็นปัญหา คือคำว่า “ปังชา” ที่เป็นข้อโต้เถียงกันในขณะนี้ว่า เจ้าของใช้ได้คนเดียวในหมวดที่จดไว้นี้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ ❌
เพราะมีข้อจำกัดในการจดฯ ภาพในกรอบสีเขียว ดันมีคำที่ประชาชนทั่วไปควรจะสามารถใช้ได้ด้วย นั่นก็คือคำว่า “ปังชา” อันที่จริงก็ ชาไทยด้วย ก็คำมันสามัญ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ร้านขายโอเลี้ยงแล้ว ผู้ขอจดจึงต้องสละสิทธิที่จะใช้คนเดียว ตามหลักฐานที่ขีดเส้นใต้สีฟ้าไว้
การสละสิทธิ์มีความหมายว่าไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความที่ขอสละสิทธินั้นทั้งหมด แต่คนยื่นคำขอก็ยังสามารถใช้ได้นะคะ แต่ไม่ใช่คนเดียว แต่คนอื่นที่จะใช้ได้ ถ้าหากนำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ตามกรอบสีเขียวและเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกันยังสามารถห้ามได้อยู่
จากประสบการณ์ในการจดให้ลูกความ ถ้าไม่สละสิทธิที่จะใช้แต่เพียงผู้เดียว ในคำที่เป็นคำสามัญ ชาวบ้านชาวช่อง เขาใช้กันโดยทั่วไป ใช้มานาน ไม่ใช่คำประดิษฐ์พิสดารอะไร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็คงจะไม่รับจดให้ เพราะมันเอาเปรียบคนอื่น
ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามคำขอนี้ คำว่า “ปังชา” ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้ได้โดยสุจริต โดยไม่มีสิทธิถูกฟ้องได้
แต่อย่าไปใช้บนรูปลักษณ์ของเครื่องหมายในกรอบสีเขียว ให้มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน โดยมีเจตนาฉกฉวยประโยชน์ให้เจ้าของเครื่องหมายเสียหาย แบบนี้มีสิทธิถูกฟ้องได้ค่ะ
นอกจากนี้ ยังโพสต์ข้อความอีกว่า #ปังชา EP.2 คำขอนี้ ขอจดเครื่องหมายบริการในหมวด ตามกรอบสีแดง ตามรูปที่ขอจดทะเบียนไม่ได้มีคำภาษาไทยว่า “ปังชา” มีแต่เพียงคำภาษาอังกฤษ ดังนั้นเจ้าของเครื่องหมายนี้ยิ่งไม่สามารถห้ามประชาชนไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขาย ชาไข่มุก น้ำแข็งไส เครื่องดื่มชา บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มได้
ประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา”ได้
จบ!