วันที่ 30 ส.ค.66 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดโครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ระยะที่1 พร้อมเปิดแปลง “SMART FARM” และร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ในแปลงนาสาธิตเปียกสลับแห้ง โดยมี นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา นายณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ตลอดจนผู้อำนวยการโครงการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยให้มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานหลักด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้นำหลักการและนโยบายดังกล่าว มาปรับปรุงพัฒนางานด้านการชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ ให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาเกษตรกร Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อให้เกษตรกรไทยมีความพร้อมและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ด้วยการนําเทคโนโลยี ผสานภูมิปัญญามาปรับใช้ให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในการเพาะปลูกให้สูงขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ และความต้องการของตลาด มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้พัฒนาโครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ระยะที่ 1 ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ที่มีพื้นที่จัดการน้ำราว 45,000 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาการแบ่งจ่ายน้ำและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสู่การเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ (Water Productivity) ที่สูงขึ้น และสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงได้ โดยโครงการในระยะแรก ประกอบด้วย
o งานพัฒนาระบบจัดการการเพาะปลูกอัจฉริยะ หรือ SMART FARM ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และ IoT พร้อมจัดรูปแปลงและปรับปรุงระบบส่งน้ำแบบ Onfarm แบบอัตโนมัติ เพื่อจัดการน้ำและปุ๋ยแก่พืชตลอดฤดูการเพาะปลูก ในพื้นที่แปลงสาธิตจำนวนกว่า 10 ไร่
o งานพัฒนาระบบควบคุมการแบ่งจ่ายน้ำอัจฉริยะ จากอาคาร Outlet ไปยังระบบคลองส่งน้ำหลัก เพื่อแบ่งจ่ายน้ำสู่พื้นที่จัดการน้ำ โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลในอาคาร Outlet อุปกรณ์ควบคุมอาคารบังคับน้ำปากคลอง LMC และ RMC รวมทั้งคลอง 4L-RMC และคลองส่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง
o งานพัฒนาระบบชลประทานอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการวัดระยะไกล และ IoT หรือระบบ “RID Meesuk” พร้อมจัดรูปแปลงและปรับปรุงระบบส่งน้ำแบบ Onfarm ในพื้นที่จัดการน้ำเพื่อการเกษตรนำร่อง 337 ไร่ ตามแนวคิดการจัดการน้ำแบบองค์รวม (Total Water Management) ที่เน้นถึงการจัดการความต้องการของผู้ใช้น้ำ โครงสร้างพื้นฐานระบบชลประทาน และแหล่งทรัพยากรน้ำในพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
o การส่งเสริมวิธีการเพาะปลูกพืชและการจัดการน้ำอย่างเหมาะสม โดยการเตรียมแปลงเพาะปลูก การเตรียมดินเพื่อการปลูกข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวหอมปทุมธานี 1 ข้าวกข41 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และพืชหลังฤดูกาล เช่น ปอเทือง กระจับ และถั่วเหลือง รวมทั้งการปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะในแปลงสาธิต เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาและเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม สำหรับการจัดการเพาะปลูกแบบแปลงน้ำหยด แปลงเปียกสลับแห้ง และแปลงน้ำขัง ให้แก่อาสาสมัครชลประทานและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่
ด้านนายณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมนี้ ได้กำหนดพื้นที่นำร่อง 337 ไร่ เป็นแปลงต้นแบบเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยใช้ระบบชลประทานอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการวัดระยะไกล และ IoT หรือระบบ “RID Meesuk” ที่ใช้งานบน Smart phone มาช่วยในการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ความต้องการใช้น้ำของพืช ระดับน้ำในแปลงนา เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและความต้องการใช้น้ำ รวมไปถึงการสั่งการควบคุมการปิด-เปิดอาคารชลประทานด้วยระบบการควบคุม SCADA ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรได้ว่าจะได้รับน้ำเข้าแปลงนาได้ตรงเวลา ลดความคลาดเคลื่อนในการจัดการน้ำ ลดความขัดแย้งในการใช้น้ำของกลุ่มเกษตรกร ทำให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การทำนาแบบเปียกสลับแห้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิต ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นบ่อเกิดของภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
การดำเนินการโครงการนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกร โดยสามารถเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นจากการจัดการน้ำและการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม สามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมหลังฤดูเพาะปลูกและสร้างรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำที่ลดลง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนสร้างความพึงพอใจในการบริการของกรมชลประทานให้เพิ่มขึ้น โดยที่โครงการดังกล่าว สามารถขยายผลให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ชลประทาน ควบคู่กับการส่งเสริมเชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนาตลาดข้าวเพื่อการปศุสัตว์ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและการตลาดดิจิทัลในพื้นที่โดยใช้โมเดล BCG และวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลอดจนเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Sandbox เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างทางการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่มาตรฐานการผลิตระดับสากล เพื่อให้การทําเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป