วันที่ 30 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  ภายหลังการเปิดให้สส. หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่างๆ  เสร็จสิ้นลง  ปรากฏว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ได้เสนอต่อที่ประชุมให้เปลี่ยนระเบียบวาระ โดยนำญัตติ ขอให้สภาฯพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ซึ่งถูกบรรจุในเรื่องที่ค้างพิจารณาลำดับที่ 33 ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวาระอื่นๆที่กำหนดไว้ในระเบียบวาระ



โดยนายพริษฐ์ อภิปรายว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาผู้แทนราษฎร ต้องทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากที่สังคมถกเถียงในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะใช้เวลาดำเนินการจากวันนี้ จนถึงมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ 2 ปี ซึ่งการเสนอคำถามประชามติเดียวกันที่หลายพรรคการเมืองเคยลงมติเห็นชอบแล้วในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา  เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 65 ดังนั้นการเสนอของตนเพื่อยืนยันหลักการของสภาฯ ที่เคยลงมติมาแล้วในรอบที่ผ่านมา



"มีความจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยใช้เวทีของสภาฯ เพราะ ครม.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำได้โดยเร็วหรือไม่ แม้จะระบุว่าจะทำเรื่องในนัดแรกที่มีการประชุม หรือหาก ครม.ทำได้โดยเร็วต่อการจัดทำประชามติหรือไม่ อย่างไร บทบาทในสภาฯ ที่มีทุกพรรคต้องถกเถียงให้ตรงกัน ในคำถามประชามติที่ควรออกแบบให้ดี" นายพริษฐ์ กล่าว

จากนั้นได้มีสส. ในซีกพรรคร่วมรัฐบาล ลุกขึ้นคัดค้าน อาทิ  นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวไม่เห็นด้วย เพราะเรื่องที่บรรจุในวาระพิจารณาลำดับก่อนหน้านั้น มีความสำคัญและเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่น ผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งตนเสนอและบรรจุไว้ใน ลำดับที่ 3 ซึ่งการเลื่อนระเบียบวาระตนไม่ขัดข้อง หากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้นตนไม่เห็นด้วยและต้องการให้คงระเบียบวาระไว้เช่นเดิม 

นอกจากนี้ สส.พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ได้สนับสนุนนายอรรถกร และขอให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ ทำให้ต้องใช้การลงมติตัดสิน 

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์  พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  อีก 1-2สัปดาห์ ครม.จะมีการประชุมนัดแรกแล้ว ดังนั้นไม่อยากให้หารือซ้ำซาก อย่าพาดพิงพรรคเพื่อไทย พรรคท่านที่เป็นผู้เจริญแล้วจะทำอะไรก็ทำ แต่ขอนิมนต์อย่ามายุ่งกับเขา



จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติ พบว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระ ด้วยคะแนน 262 ต่อ 143 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนท้ายว่า ตนเห็นด้วยกับการเลื่อนหรือไม่เลื่อนระเบียบวาระ แต่ขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทำให้ไม่มีการหารือร่วมกัน ทั้งนี้การหารือในห้องประชุมถือว่าทำได้ แต่การใช้เวทีวิปจะทำให้ไม่เสียเวลาที่ประชุม