นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) กล่าวถึงการผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ว่า ในปีงบประมาณ 2565 สปภ.ได้รับงบประมาณ วงเงิน 51,530,000 บาท เพื่อเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย กทม.บริเวณ ต.ท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่ติดแม่น้ำนครชัยศรี เนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา และมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ 2566 สำหรับงานเตรียมงานและงานรื้อถอน งานสาธารณูปโภค อาคารที่พักขยะ อาคารหอเก็บน้ำ อาคารหอพัก อาคารจอดรถดับเพลิง อาคารบรรยายสรุปภาคสนาม สถานีฝึกดับเพลิงพฤติกรรมต่าง ๆ และสถานีฝึกกู้ภัยทางน้ำ และได้รับงบประมาณดำเนินการในระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2566 – 2568) เป็นเงิน 1,600,000,000 บาท โดยได้รับงบประมาณปี 2566 เป็นเงิน 1,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติม

ซึ่งปัจจุบันสำนักการโยธา กทม.ได้รายงานผลการพิจารณาและขออนุมัติสั่งจ้างโครงการฯ กับบริษัท เอกชน ระยะที่ 1 เป็นเงิน 634,000,000 บาท กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน 900 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หากได้รับอนุมัติแล้วจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้บริการฝึกอบรมด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนใช้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแหล่งศึกษาค้นคว้าด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยของ กทม.รองรับเหตุสาธารณภัยด้านต่าง ๆ ที่นับวันจะมีความหลากหลายรุนแรงเพิ่มขึ้น อาทิ แผ่นดินไหว อาคารถล่ม อุทกภัย เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการไว้แล้วแต่กลับยังไม่มีความชัดเจนว่าตกลงแล้วโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งโดยปกติแล้วกรุงเทพมหานครจะมีการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรมดับเพลิงราวๆ 80-100 ล้านบาทต่อปี โดย

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ทุกปีกทม.จะส่งเจ้าหน้าที่ นักดับเพลิงไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยราชประชา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ใช้ระยะเวลาฝึกประมาณ 6 เดือน เน้นเรื่องความอดทน ระเบียบวินัย , หลักสูตรวิชาดับเพลิงและกู้ภัย เช่น ดับเพลิงอาคารสูง ชุมชน บ้านเรือน บนเครื่องบิน ดับเพลิงแก๊สน้ำมัน , วิชากู้ภัยประเภทต่าง ๆ เช่น กู้ภัยสารเคมี ที่สูง พื้นที่อับอากาศ กู้ภัยทางน้ำ ทางบก , หลักสูตรการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมถึงการฝึกหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์ ทั้งนี้มีการส่งนักดับเพลิงกว่า 1,800 คน เข้าฝึกทบทวนความรู้ทักษะต่าง ๆ พัฒนาความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ในสถานการณ์ใหม่ๆ

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอัตรากำลังของนักดับเพลิงเพียง 1,800 คน เมื่อเทียบกับกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีประชาชนและพื้นที่ใกล้เคียงกับกทม.มีนักดับเพลิงถึง 6,800 คน กทม.จึงจำเป็นต้องใช้อาสาสมัคร แต่ปัญหาคือ อาสาสมัครไม่ได้รับการฝึกตามมาตรฐาน จึงมีความผิดพลาด และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง รวมถึง ส่วนใหญ่อาสาสมัครจะช่วยงานดับเพลิงเมื่อว่างจากงานประจำ

สำหรับการวางแผนการก่อสร้างศูนย์นี้นั้น นายธีรยุทธ เล่าว่า กทม.วางแผนก่อตั้งศูนย์ฯตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งได้รับการโอนภารกิจมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการผลักดันเรื่องนี้เรื่อยมาจนถึงปี 2554 มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิจัยออกแบบการก่อตั้งศูนย์ที่ ต.ท้ายตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม บนพื้นที่ 57 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา แล้วเสร็จในปี 2558 โดยใช้งบวิจัยกว่า 36 ล้านบาท มีแผนสร้างระยะแรกปี 2563 โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ฝึกภัยในเขตเมือง โดยมีจุดประสงค์ พัฒนาบุคลากรให้เป็นครูฝึกมาตรฐาน บริหารจัดการอาสาสมัคร ทำการฝึกเฉพาะทางให้ผู้ประกอบการ ชุมชน เยาวชน โรงเรียน และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเข้าใจการรับมือสาธารณภัยอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ไม่ควรเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการสร้างศูนย์ฝึกจำนวนรวมกว่า 3 พันล้านบาท กับการส่งคนไปฝึกปีละ 100 ล้านบาท เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยและชีวิตประชาชน เมืองหลวงแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีศูนย์ฝึกของตนเองเพื่อการต่อยอดหลากหลาย

ด้านนายไสว โชติกะสุภา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตราษฎร์บูรณะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงเหตุผลในการชะลอโครงการก่อสร้างดังกล่าว ว่า เราพบรายละเอียดก่อสร้างอาคาร บ้านพักอาศัย รวมถึงโครงสร้างและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งผิดหลักผังเมืองของ จ.นครปฐม หากกทม.ยืนยันสร้างตามแผน ต้องเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นครปฐมถึงเหตุผลความจำเป็นในการแก้ผังเมืองให้กทม.สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะผังเมืองมีมาก่อนที่กทม.จะมีแผนดำเนินโครงการ ประกอบกับประชาชนมีความกังวลเรื่องมลพิษ สิ่งแวดล้อม เกรงว่าการก่อตั้งโครงการจะทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมในพื้นที่แย่ลง เป็นปัญหาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ แนวทางเดียวคือชะลอการก่อสร้างจนกว่าจะตกลงแก้ผังเมืองได้สำเร็จ

ส่วนเรื่องงบประมาณก่อสร้าง ที่ผ่านมา 2-3 ปี ยังไม่มีความเห็นชอบจากสภากทม. ปัจจุบันมีแผนนำเรื่องเข้าสภากทม.เพื่อพิจารณาขอตั้งงบประมาณโครงการในระยะแรกแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากสร้างในพื้นที่ จ.นครปฐมไม่ได้เพราะไม่ได้รับการแก้ผังเมืองจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ กทม.ต้องยกเลิกก่อสร้างโครงการใน จ.นครปฐม แล้วหาพื้นที่ในกทม.เพื่อสร้างทดแทน ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีกรอบเวลา แผนและความชัดเจนใดทั้งสิ้น สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์ฯ มีมูลค่าดำเนินการระยะแรก 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2563-2567 จำนวน 685,300,000 บาท ประกอบด้วย ปี 65 จำนวน 51,530,000 บาท ปี 66 จำนวน 494,470,000 บาท ปี 67 จำนวน 137,300,000 บาท โดยการก่อสร้างหลัก คือ อาคารปฏิบัติการและส่งเสริมสมรรถภาพร่างกาย อาคารจอดรถดับเพลิง อาคารคลังวัสดุ อาคารบริการ อาคารบรรยายสรุปภาคสนาม 3 หลัง

ขอบคุณภาพจาก สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม.