วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่บริเวณแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา เข้าร่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญกับปัญหาคนไร้บ้าน จากการสอบถามโดยตรง พบว่า คนไร้บ้านบางส่วนมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่ทิ้งบ้านมาอาศัยที่สนามหลวง เพราะไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีงานทำ และมีอายุตั้งแต่ 40-78 ปี แต่ปัจจุบัน จากการร่วมงานกันระหว่างกทม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ มูลนิธิกระจกเงา ภายใต้โครงการจ้างวานข้า และโครงการจุดบริการคนไร้บ้านบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ทำให้คนไร้บ้านบางส่วนมีงานทำ เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเช่าที่พักอาศัยเองได้ และหลุดพ้นจากวงจรคนไร้บ้าน โดยกทม.เคยมีโครงการจ้างคนไร้บ้านมาทำหน้าที่เก็บขยะสังกัดกทม.แต่ถูกปฏิเสธ เพราะคนไร้บ้านมองว่าเป็นงานหนักเกินไป

 

ทั้งนี้ จากการก่อตั้งจุดบริการคนไร้บ้านบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ทำให้จัดระเบียบ เก็บข้อมูล และช่วยเหลือคนไร้บ้านได้มากขึ้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีบริการซักผ้า อาบน้ำ จุดแจกอาหาร ตรวจรักษาสุขภาพเบื้องต้น บริการสุขาและบริการนำคนไร้บ้านเข้าถึงสวัสดิการเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่ประจำจุด เช่น ทำบัตรประจำตัวประชาชน เข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล และแนะนำอาชีพสำหรับคนไร้บ้านที่สนใจ ทำให้ยอดคนไร้บ้านในกทม.ลดลงจาก 1,800 เหลือ 1,200 คน (มิ.ย.66) จึงขอฝากถึงประชาชนทั่วไปให้มาแจกอาหารบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้าที่กทม.กำหนด เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านได้ตรงจุด หากแจกอาหารนอกเหนือพื้นที่กำหนดจะทำให้คนไร้บ้านคุ้นชินอยู่ในพื้นที่ ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการและบริการที่กทม.เตรียมไว้ให้ สิ่งสำคัญคือ การนำคนไร้บ้านเข้าสู่ระบบการทำงาน มีอาชีพ เพื่อหลุดพ้นจากวงจรคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืนกว่าการแจกอาหาร

 

นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านที่พบในปัจจุบันคือเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะบริเวณตรอกสาเก คลองหลอดวัดราชนัดดา ซึ่งมีคนไร้บ้านพักอาศัย รวมถึง มีประชาชนในพื้นที่ไม่ไว้ใจคนไร้บ้านและมีการร้องเรียน สำนักงานเขตพระนครได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาในช่วงเช้าและช่วงบ่าย (โรงเรียนเลิก) รวมถึงทำความสะอาดแหล่งอาศัยของคนไร้บ้านพร้อมประชาสัมพันธ์ให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และให้ไปใช้ห้องน้ำที่จุดบริการบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้าตามที่กทม.จัดไว้ให้ ส่วนผู้ต้องการแจกอาหารให้ไปที่บริเวณหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณตรอกสาเก (ช่วงเย็น) และ บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ช่วงกลางวัน)

 

นายศานนท์ กล่าวว่า กทม.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการบ้านอิ่มใจ โดยใช้พื้นที่ตึกเก่าของกทม.ใกล้กับสะพานเฉลิมวันชาติ จากเดิมที่มีแผนเช่าพื้นที่อาคารเก่าบริเวณแยกแม้นศรี ซึ่งเป็นพื้นที่อาคาร 6 ชั้น ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขนาดพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 8,281 ตารางเมตร รองรับคนไร้บ้านได้ 200 คน แบ่งเป็นชาย 100 คน หญิง100 คน แต่ค่าเช่าสูงถึงปีละ 13 ล้านบาท จึงยกเลิกไป ทั้งนี้ หากปรับปรุงอาคารเก่าบริเวณใกล้สะพานเฉลิมวันชาติแล้วเสร็จ กทม.ร่วมกับพม.จะหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อปรับเป็นศูนย์บริการคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการ (จุดหลัก) ย้ายบริการจากใต้สะพานพระปิ่นเกล้ามารวมไว้เป็นจุดเดียว

 

ปัจจุบันพบคนไร้บ้านบางส่วนบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ตรอกสาเก แต่ส่วนใหญ่อาศัยบริเวณถนนราชดำเนินเนื่องจากมีการแจกอาหารจำนวนมาก กทม.ขอความร่วมมือประชาชนนำอาหารไปแจกในจุดที่จัดเตรียมไว้ให้ จะช่วยคนไร้บ้านได้มากขึ้น เบื้องต้นมีคนไร้บ้านได้งานทำจากจุดบริการดังกล่าวมากขึ้น สำหรับปัญหาที่พบคือ การดูแลเรื่องคุณภาพอาหารที่นำมาแจกคนไร้บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย โดยกทม.จะร่วมกับสำนักงานเขตพระนครในการติดตามคุณภาพอาหารที่นำมาแจกคนไร้บ้านอย่างเข้มงวด รวมถึง การดำเนินการกับผู้ที่นำเด็กมาขอทาน ซึ่งอาจจะเป็นพ่อแม่ของเด็กเอง เบื้องต้นพบว่า ไม่ใช่คนสัญชาติไทย อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีการแจกอาหารให้คนไร้บ้านไปกว่าแสนกล่องที่จุดบริการ แต่มีผู้ได้งานทำเพียง 60 คน เข้าถึงสวัสดิการเพียงหลักร้อยคน จึงอยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางดำเนินการในอนาคต คาดว่าหากโครงการบ้านอิ่มใจดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยคนไร้บ้านได้มากกว่านี้ เพราะมีที่อยู่ชั่วคราว มีอาหาร มีงานให้ เพื่อพยุงคนไร้บ้านให้สามารถเริ่มต้นพึ่งพาตนเองได้

 

นายสิทธิพล กล่าวว่า มูลนิธิกระจกเงาจัดทำโครงการจ้างวานข้าร่วมกับกทม. เพื่อบริการสวัสดิการคนไร้บ้านบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เช่น บริการซักอบแห้ง ห้องอาบน้ำ สุขา และเปิดรับสมัครงานสำหรับคนไร้บ้านที่สนใจ ทำหน้าที่คัดแยกขยะ ปัจจุบันรับคนไร้บ้านจากเขตพระนครเข้าทำงานแล้วประมาณ 60 คน ในอัตราจ้างเฉลี่ยวันละ 500 บาท ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มี 30 คนที่สามารถเช่าบ้านอาศัยเองได้ เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้านสู่ประชาชนปกติทั่วไปปัจจุบันมีการจ้างทำงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดเมืองเพิ่มเติม โดยร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร เบื้องต้นพบคนไร้บ้านหน้าใหม่อายุประมาณ 40 ปีมากขึ้น ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนผู้ตกงานเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

 

สำหรับการให้บริการคนไร้บ้านของ กทม.กับภาคีเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2566 ที่บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณตรอกสาเก ประกอบด้วย ให้คำแนะนำสิทธิสวัสดิการ 1,249 ราย แจกอาหารทุกวัน 115,430 ชุด ตรวจสุขภาพ 1,131ราย จ้างงานโดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและมูลนิธิกระจกเงา 169 รายทำบัตรประชาชน 80 ราย ย้ายสิทธิรักษาพยาบาล 257 ราย บริการซักอบอาบ 960 ราย ตัดผม 438 ราย ส่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 5 ราย ส่งกลับภูมิลำเนา 10 ราย โดยข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2566 กรุงเทพมหานคร มีคนไร้บ้านจำนวน 1,271 คน รองลงมาคือจังหวัดชลบุรีมี 126 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องรายได้และเศรษฐกิจเป็นหลัก