เริ่มโผล่ตัดต้นพะยูงจุดที่ 4 !!! ประชาชนตำบลหนองหิน อำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ตรวจสอบต้นไม้พะยูงโรงเรียน ซึ่งถูกขายให้กับนายหน้าจำนวน 9 ต้น พร้อมหลักฐานใบเสร็จรับเงิน 104,000 บาท และเอกสารขั้นตอนข้อตกลงซื้อขายไม้พะยูงระหว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 กาฬสินธุ์ และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ คล้ายกับปัญหาที่โรงเรียน ใน อ.หนองกุงศรี มีภาพถ่ายกลุ่มข้าราชการ กรรมการโรงเรียนเดินสำรวจต้นไม้พะยูงใหญ่ พบถูกป้องกันด้วยลวดหนามของชาวบ้านที่นำมาล้อมป้องกันไว้ ตะลึงต้นไม้พะยูงชุดนี้ชาวบ้านระบุเป็นไม้พะยูงพระราชทานเมื่อ 50 ปีก่อน ชี้มีเงื่อนงำทำเป็นขบวนการเรียกร้องให้ตรวจสอบ
กรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ใน อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจส่งความผิด 8 เจ้าหน้าที่รัฐ เอี่ยวขายไม้พะยูง ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณด้านหลังโรงเรียนหนองโนวิทยาคม หลังได้รับแจ้งจากภาคประชาชนตำบลหัวหิน อำเภอห้วยเม็ก ว่ามีการตัดต้นไม้พะยูงด้วยวิธีประมูลขายหาเงินเข้าหลวง จำนวน 9 ต้น ขายให้กับพ่อค้าในราคา 104,000 บาท โดยขายไปเมื่อช่วงกลางเดือน เมษายน 2566 ซึ่งมีพฤติกรรมการตัดไม้พะยูงประมูลขายคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ พร้อมระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งต้นไม้พะยูงชุดนี้ ชาวบ้านระบุว่าเป็นต้นไม้พะยูงของบรรพบุรุษที่นำมาปลูกเอาไว้ เชื่อว่าเป็นต้นพะยูง “พระราชทาน” เพราะก่อนจะมีการตัดชาวบ้านในชุมชนพยามทักท้วงแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเป็นการตัดที่อ้างว่าเป็นไปตามระเบียบทางราชการหาเงินเข้าแผ่นดิน
การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้พบกับชาวบ้านที่รอแจ้งเหตุ โดยได้นำพาไปดูจุดที่ต้นไม้พะยูงเคยมีอยู่ ปรากฏว่าหายไปจากพื้นที่และถูกตัดไป 9 ต้น พร้อมขุดตอ 8 ตอ เหลือ 1 ตอเป็นหลักฐาน พร้อมกันนี้ยังได้นำภาพถ่ายต้นพะยูงที่มีอยู่เดิมมาเปรียบเทียบประกอบหลักฐานเอกสารการตกลงซื้อขาย ที่มีลักษณะคล้ายกับโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ โดยมีภาพถ่ายสำคัญที่ชาวบ้านได้ร่วมกันถ่ายเก็บเอาไว้ ปรากฏภาพกลุ่มข้าราชการ ประกอบด้วย ตัวแทนทางโรงเรียนหนองโนวิทยาคม และคณะกรรมการสถานศึกษา และตัวแทนของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ไปประเมินราคาและวัดไม้พะยูง ถึงขั้นเอาตลับเมตรวัดรอบต้นไม้พะยูงทั้ง 9 ต้น ที่ชาวบ้านร่วมกันป้องกันด้วยวิธีการมัดล้อมรอบต้นพะยูงไว้ด้วยลวดหนาม
แหล่งข่าวในพื้นที่ กล่าวด้วยความเสียดายไม้พะยูงเก่าแก่ที่มาถูกตัดด้วยฝีมือข้าราชการว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2566 เกี่ยวกับการขโมยไม้พะยูงของกลางที่หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด ต่อมา ก็พบข่าวการประมูลไม้พะยูงขาย ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ซึ่งพบว่ามีพฤติการณ์ที่คล้ายกับที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคมเป็นหมู่บ้านของตน และเกิดขึ้นก่อนที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ที่ทำให้มั่นใจว่า “ภาครัฐไม่เคยคิดที่จะอนุญาตให้ตัดไม้พะยูงของโรงเรียนไปขาย” หรือหากตัดก็สามารถตัดได้เท่าที่จำเป็น หรือเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยสำหรับนักเรียน จึงเห็นว่าจุดที่เคยอยู่ของไม้พะยูงโรงเรียนหนองโนวิทยา ก็ไม่ได้เสี่ยงหรือเข้าเกณฑ์แต่อย่างใด อีกทั้งในด้านเหตุผลการประมูลขาย ก็อ้างว่าจะนำเงินเข้าแผ่นดิน แต่มีราคาที่ต่ำกว่าการซื้อขายจริงของราคากลางถึง 28-56 เท่า ชาวบ้านหนองโนที่หวงแหนไม้พะยูง จึงได้พากันแชร์หลักฐานการซื้อขายที่ได้มาจากโรงเรียนหนองโนเพื่อให้ ปปช.- ปปท.- สตง. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการป้องกันรักษาป่าไม้เข้าตรวจสอบ
"ชาวบ้านหนองโน ทุกคนมีความรักและหวงแหนไม้พะยูงที่โรงเรียนหนองโน เพราะรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ปลูกไว้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของแผ่นดิน พอเห็นว่าทางคณะกรรมการสถานศึกษาจะขออนุญาตตัดไม้พะยูงขาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ได้ทักท้วงเพื่อขอให้ยุติการกระทำเพราะต้องการเก็บรักษาเอาไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ดูและยังเป็นร่มไม้ให้กับนักเรียน แต่ก็ไม่เป็นผลอีกทั้งไม่มีการประชาคมหมู่บ้าน และเท่าที่ทราบ ทางคณะกรรมการสถานศึกษา มีการประชุมกันเอง ขณะเดียวกันยังพบว่ามีคณะกรรมการฯบางคน ถูกปลอมลายมือเห็นชอบให้มีการตัดไม้พะยูงอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการตัดไม้พะยูง ทั้งขั้นตอนการขออนุญาต การประเมินราคา ที่มาที่ไปของเงินขายไม้พะยูง จึงขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับชาวบ้านด้วย” แหล่งข่าวกล่าวฯ
รายงานแจ้งว่าหลังจากชาวบ้านได้พาไปดูร่องรอยตัดไม้พะยูง 9 ต้น ได้มีการนำเอกสาร ซึ่งระบุเป็นใบเสร็จรับเงิน ว่าประมูลขายในราคา 104,000 บาท ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายของกลุ่มข้าราชการ เข้ามาเดินสำรวจไม้พะยูง ก่อนที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษาตามภาพในการขออนุญาตตัด และทำสัญญาซื้อขายจ่ายเงินกัน ครั้งนี้มีตัวแทนเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เข้าร่วมประชุมด้วย
สำหรับไทม์ไลน์ในการซื้อขายไม้พะยูงด้วยการประมูลถูกอ้างระเบียบพัสดุ กรมธนารักษ์ ของโรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก ซึ่งระบุว่าเป็นการขออนุญาตการตัดไม้ในพื้นที่ราชพัสดุ เพื่อนำเงินเข้ากรมธนารักษ์นั้น ตามเอกสารเริ่มต้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เป็นการประชุมรายงานของกรรมการสถานศึกษาแจ้งความจำนงความต้องการตัดไม้พะยูงของโรงเรียนหนองโนวิทยาคม จากนั้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 หลังจากมีการหารือ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ได้ทำหนังสือ ขออนุญาตไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 เพื่อขออนุญาตตัดไม้พะยูงในเขตที่ราชพัสดุ ต่อเนื่องกันมา ในวันที่ 11 เมษายน 2566 ได้รับการอนุญาตให้ตัด โดยธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์เป็นหนึ่งในกรรมการประเมินราคา ไม้พะยูง 9 ต้น ราคาขาย 104,000 บาท เพียงสองวัน ในวันที่ 12 เมษายน 2566 ได้มีการรายงานผลการประเมินราคา พร้อมทำสัญญาซื้อขาย จ่ายเงินปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน เล่มที่ 26 ก 25901 เลขที่ 14 เป็นใบเสร็จราชการของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ได้รับเงินจาก นายพัฒนพงษ์ ภูวงศ์ผา ระบุรายการรับเงินค่าขายไม้พะยูง 9 ต้น ในที่ราชพัสดุโรงเรียนหนองโนวิทยาคม เป็นจำนวนเงิน 104,000 บาท และต่อเนื่องเพียง 3 วัน คือวันที่ 15 เมษายน 2566 นายหน้าก็ได้นำรถบรรทุกพร้อมเลื่อยยนต์เข้ามาทำการตัดไม้พะยูงไป
ส่วนปัญหาการตัดไม้พะยูงในพื้นที่ราชพัสดุ แหล่งข่าวด้านความมั่นคงแจ้งว่า หลังจากมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบ ปรากฏมีชาวบ้านในหลายพื้นที่ทยอยส่งเอกสาร หลักฐาน และภาพถ่าย จากหลายโรงเรียนที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขต 2 กาฬสินธุ์ ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน โดยภาครัฐ นำโดยผู้อำนวยการโรงเรียน จะทำการขออนุญาตตัดไม้พะยูง ไปยัง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์คนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการพิจารณาอนุญาตมาประสานและแนะนำวิธีการ ตามช่องทางพัสดุที่เปิดโอกาส แต่ถือเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของ กรมธนารักษ์ ที่มีความต้องการในการอนุรักษ์ผืนป่าตามนโยบายปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะต้นไม้พะยูงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ที่นับว่าจะหาได้ยาก จนมีข้อสั่งการไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศที่มอบหมายให้ เป็นผู้พิจารณาในการตัดไม้พะยูงตามความเหมาะสม แต่กลับพบว่าในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ พอจะเริ่มดำเนินการอนุญาตให้ต้ดไม้พะยูงต่อเนื่องหลายแห่ง โดยอ้างว่าเพื่อหาเงินเข้าหลวง ซึ่งก็ไม่เคยรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด แม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้ง ในการอนุญาตให้นายหน้าตัดไม้พะยูงในพื้นที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ถือว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังทำผิดขอสั่งการที่เป็นข้อห้ามตัดไม้พะยูงของทางจังหวัดและคาดว่าจะมีชาวบ้านที่หวงแหนป่าไม้นำเอกสารและภาพถ่ายมาเปิดโปงอีกหลายแห่ง