เมื่อวันที่ 29 ส.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นัดหารือกับผู้บริหารของกระทรวงการคลังคาดว่า จะเป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการผลักดันนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงการคลังเตรียมรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวเพียง 3.5% จากเดิมอยู่ที่ 3.6%

สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น ในหลักการพรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้กระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ซึ่งจะใช้จ่ายเฉพาะร้านค้าชุมชนและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะมีการพิจารณาเป็นกรณีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ขณะที่ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารในโครงการภายหลัง

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐาได้หารือร่วมกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจและสถานะประเทศไทยในปัจจุบันให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ ซึ่งนายเศรษฐาได้ขอให้ สศช.เตรียมความพร้อมในการเดินหน้านโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยผลการหารือของทีมเศรษฐกิจกับนายเศรษฐาว่า เป็นการให้ข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งหารือถึงแนวนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องการจะดำเนินการว่ามีรูปแบบอย่างไร ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ นายเศรษฐาระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2566 ชะลอตัว และจำเป็นต้องมีมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต งบประมาณที่จะนำมาใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องไปดูในรายละเอียด ภาระการคลังที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งต้องเป็นการหารือร่วมกับหลายหน่วยงาน มาตรการพักชำระหนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแล เน้นการปรับโครงสร้างหนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ให้ลูกหนี้เกิดพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 10% เพื่อหารายได้จัดสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัย สศช.ยืนยันว่าเป็นเพียงแนวคิดในงานสัมมนาที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุย สศช.ไม่ได้เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่

โดยไตรมาส 2 ปี 2566 สถานการณ์แรงงานปรับตัวดีขึ้น ผู้ที่มีงานทำมีจำนวน 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.7% ขณะที่อัตราว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.06% หรือมีผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% คิดเป็นมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี เกิดจากการปรับนิยามหนี้ใหม่กว่า 7 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 4.5% ต่อจีดีพี ความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.68% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.62% โดยความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้เสียยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มสูงกว่า 30.3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2565 คนไทยต้องรับสายจากมิจฉาชีพสูงถึง 17 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 165.6% มีมูลค่าความเสียหายกว่า 38,786 ล้านบาท