พาณิชย์เผยเงินเฟ้อลดพยุงการใช้จ่าย-ภาระค่าครองชีพ วอนรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือด่วน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนกรกฎาคม 2566 ทุกอำเภอทั่วประเทศ ในประเด็นการใช้จ่ายของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยพบว่า การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เงินเฟ้อลดลง ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งยังคงใช้จ่ายเท่าเดิมและลดลง ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กระทบต่อการใช้จ่าย การออม และการลงทุน ในระดับปานกลาง – มาก โดยมีแนวทางลดผลกระทบ คือ การลดการซื้อของฟุ่มเฟือย สำหรับความพึงพอใจต่อนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในด้านต่างๆที่ได้ดำเนินการมาตลอดครึ่งปีแรกของปี 2566 อยู่ในระดับปานกลาง – ดีมาก โดยเฉพาะด้านคุณภาพของบุคลากร ประสิทธิภาพการทำงาน และบริการต่างๆที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เงินเฟ้อลดลง พบว่า ในภาพรวม ยังใช้จ่ายเท่าเดิมเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 44.31 ของผู้ตอบทั้งหมด) ตามด้วย ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 31.25) และใช้จ่ายลดลง (ร้อยละ 24.44) หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 68.75) ใช้จ่ายเท่าเดิมและลดลง สะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อที่ลดลงช่วยประคับประคองให้ประชาชนยังสามารถใช้จ่ายได้ในระดับเดิม และมีบางส่วนที่ภาระค่าใช้จ่ายลดลง
• เมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพ และระดับรายได้ พบว่า สอดคล้องกับภาพรวม คือ ยังใช้จ่ายเท่าเดิมเป็นอันดับแรก เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ (ร้อยละ 45.0) และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 38.14) อาจสะท้อนว่าประชาชนกลุ่มนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
• ประเภทค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก มีความสอดคล้องกันคือ ค่าอาหารและเครื่องดื่มทานที่บ้าน ค่าไฟฟ้า/ประปา และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผู้ตอบเป็นรายอาชีพ พบว่า เกือบทุกอาชีพและระดับรายได้มีความเห็นสอดคล้องกับภาพรวม มีเพียงนักศึกษา ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือลดลง คือ ค่าอาหารและเครื่องดื่มทานที่บ้านและที่ร้าน และค่าโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ต
2. ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ต่อการใช้จ่าย การออม และการลงทุน พบว่า ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบระดับปานกลาง (ร้อยละ 32.71) รองลงมาคือ กระทบมาก (ร้อยละ 26.29) และไม่มีผลกระทบ (ร้อยละ 24.07) หรืออาจกล่าวได้ว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 59.0) ที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง – มาก
• เมื่อพิจารณารายอาชีพและระดับรายได้ พบว่า ผลการสำรวจสอดคล้องกับภาพรวม คือ ได้รับผลกระทบระดับปานกลางเป็นอันดับแรก มีเพียงผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เกษตรกร และผู้มีรายได้ 40,001 – 50,000 บาท/เดือนที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 30.0 ร้อยละ 29.13 และร้อยละ 29.35 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง – มาก พบว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนสูงกว่าภาพรวม (ร้อยละ 59.0) ครอบคลุมเกือบทุกอาชีพและรายได้ ได้แก่ ผู้ประกอบการ (ร้อยละ 62.65) นักศึกษา (ร้อยละ 62.23) อาชีพอิสระ (ร้อยละ 59.83) พนักงานของรัฐ (ร้อยละ 59.70) ผู้มีรายได้ 30,001 – 40,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 64.35) 50,001 – 100,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 63.86) และต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 62.97)
• สำหรับแนวทางการปรับตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ น้อย – ปานกลาง 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดการซื้อของฟุ่มเฟือย การลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการชะลอการลงทุน/การทำธุรกิจ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบมาก ก็ใช้แนวทางข้างต้นเช่นกัน โดยเน้นการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก เป็นที่น่าสังเกตว่า การพิจารณาเป็นรายอาชีพและระดับรายได้ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบทุกระดับของกลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน จะลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก สะท้อนถึงความสามารถในการวางแผนทางการเงินที่ค่อนข้างจำกัด และอาจได้รับผลกระทบมากหากเผชิญภาวะค่าครองชีพและหนี้ที่สูงขึ้น
3.ความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า พอใจในระดับปานกลาง – ดีมาก ซึ่งเป็นระดับเดียวกับการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนระดับปานกลาง – ดีมาก สูงสุด 3 อันดับแรก คือ คุณภาพของบุคลากร (ร้อยละ 83.19) ประสิทธิภาพการทำงาน (ร้อยละ 81.74) และการเข้าถึงบริการต่างๆอาทิ กิจกรรม และข้อมูล ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (ร้อยละ 81.53)
• เมื่อพิจารณาตามภาค พบว่า ประชาชนพึงพอใจระดับปานกลาง – ดีมาก เฉลี่ยสูงสุดในภาคกลาง (ร้อยละ 87.54) ตามด้วย ภาคเหนือ (ร้อยละ 86.04) ภาคใต้ (ร้อยละ 83.48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 84.21) และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ร้อยละ 59.65)
• เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ประชาชนพึงพอใจระดับปานกลาง – ดีมาก เฉลี่ยสูงสุดในอาชีพอิสระ (ร้อยละ 87.54) ตามด้วย เกษตรกร (ร้อยละ 83.24) พนักงานของรัฐ (ร้อยละ 82.98) ผู้ประกอบการ (ร้อยละ 82.91) นักศึกษา (ร้อยละ 78.06) พนักงานเอกชน (ร้อยละ 77.44) และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ (ร้อยละ 73.41)
• เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เห็นว่าการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์อยู่ในระดับปานกลาง – ดีมาก โดยเฉลี่ยต่ำว่ากลุ่มอื่น
นายพูนพงษ์ กล่าวสรุปถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การลดลงของเงินเฟ้อมีส่วนช่วยให้ประชาชนยังคงใช้จ่ายได้ในระดับเดิมและลดลง ทั้งนี้ยังคงมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชนกลุ่มนี้ได้ สำหรับความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ในระดับปานกลาง – ดีมาก แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงพึงพอใจต่อการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงฯ ออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญมากขึ้น จะส่งให้นโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงฯ สามารถตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น