“พิชิต สมบัติมาก” รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่กาฬสินธุ์ ติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงโรงเรียน เผยยึดข้อสั่งการปลัดกระทรวงและนโยบายรัฐบาล ในการป้องกันปราบปราม หากพบข้าราชการในสังกัดเอี่ยวหรือเกี่ยวข้องลงโทษขั้นเด็ดขาด ด้านหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ ระบุแก๊งมอดไม้ที่กำลังระบาดในพื้นที่ ทำเป็นขบวนการ โดยมีใบสั่งจากนายทุน ด้านผวจ.กาฬสินธุ์ วาง 4 มาตรการเข้มป้องกันป่าไม้ให้ตำรวจสอบสวนกลุ่มพ่อค้าไม้แยกน้ำดีน้ำเสีย พร้อมตรวจสอบบัญชีการประมูลขายไม้พะยูงโรงเรียนและการประมูลไม้ของกลางเพื่อความโปรงใส
กรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจส่งความผิด 8 เจ้าหน้าที่รัฐ เอี่ยวขายไม้พะยูง ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น.ที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ของราชการ โดยมี ดร.พงษ์พยัคฆ์ ศรียา  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) นายดนัย  โคตรุชัย ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ด้านป่าไม้ รายงานสถานการณ์ ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงความคืบหน้ากรณีไม้พะยูงของกลางหาย เหตุเกิดหน้าเสาธงเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด ซึ่งมีข้าราชการสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพัวพัน

คณะสำรวจได้เดินเท้าตรวจสอบต้นพะยูงและร่องรอยที่ถูกคนร้ายตัด 2 ต้น พร้อมสอบถามอุปสรรค ปัญหา ข้อกังวล และวิธีการป้องกันไม้หวงห้ามทุกชนิดในระยะยาว ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเป็นแบบอย่าง ไม่ไปหลงยุ่งเกี่ยวกับเครือข่ายมอดไม้ ที่ทราบว่าได้พยามเข้าหาโดยใช้เงินล่อใจ


นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงภายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่อื่นๆ  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสนใจ และรู้สึกเสียใจ รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงมีข้อสั่งการให้ตนลงพื้นที่ดูสภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การป้องกัน แก้ไข ในระยะยาว ทั้งนี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางตามนโยบายรัฐบาลในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ ตามแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อคงสภาพสิ่งแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีข้าราชการเข้าไปพัวพัน นับจากนี้ไม่ว่ากรณีใดๆ ในการลงโทษผู้กระทำผิดจะสนับสนุนและให้ทำตามกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งทางวินัย อาญา และทางแพ่งหากมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะพิจารณาลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วยเช่นกัน


ด้านนายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบป่าไม้ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความต้องการไม้พะยูงมีสูง ในการตัดแต่ละครั้งเหมือนมีการล็อกเป้าหมายเอาไว้ เพราะเท่าที่สอบถามจะมีคนแปลกหน้าเข้ามาดูต้นไม้ จากนั้นก็จะทำการตัดไม้พะยูง ซึ่งคาดว่าต้นไม้พะยูงที่ถูกตัดจะมีใบสั่งจากนายทุนข้ามชาติ  จึงเกิดเหตุบ่อยครั้งโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย


ส่วนความเคลื่อนไหว ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2  นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เรียกประชุมนายอำเภอ 18 อำเภอ ตำรวจ กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ โดยได้ย้ำในในที่ประชุม กรณีไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ถูกประเมินราคาขายราคาต่ำกว่าราคากลาง และถือเป็นการประมูลขายที่ฝ่าฝืนคำสั่งของทางจังหวัด ที่ได้มีคำสั่งห้ามตัดไปแล้ว ในความเคลื่อนไหวในการสอบ ได้ตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทาง ปปท.จ.ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในเชิงลึกที่คาดว่าจะรู้ผลในเร็วๆนี้  ส่วนคดีไม้พะยูงของกลางหายที่หน้าเสาธงสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ สำนวนส่ง ปปช.จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ระว่างการตรวจสอบสำนวนของพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง อ.ยางตลาด


นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องการลักลอบตัดไม้พะยูง ที่โรงเรียนห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก เหตุเกิดช่วงกลางดึกของวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ที่ถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวนลักลอบตัดไม้พะยูง ถือเป็นเหตุที่ท้าทาย เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงขอให้นายอำเภอ 18 แห่ง เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง โดยให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันป้องกันด้วยการจัดเวรยามให้เข้มแข็งมากขึ้น ใน 4 มาตรการ คือ1.สั่งการฝ่ายปกครอง กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ป่าไม้ คุมเข้ม จัดเวรยาม ถี่ขึ้น 2.สำรวจ เพื่อลงทะเบียนไม้พะยูง และไม้มีค่าในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 3.เร่งติดตามขบวนการมอดไม้อย่างกระชั้นชิด และ4.มีแนวทางให้ฝ่ายตำรวจ เรียกบุคคลในวงการค้าไม้ ทั้งนายหน้า แหล่งรับซื้อ มารายงานตัว เพื่อแยกน้ำ แยกเนื้อ ในการสืบสวนหาข่าวต่อไป นอกจากนี้จะได้ขอความร่วมมือไปยังธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์  ให้ทำบัญชีย้อนหลังการประมูลขายไม้โรงเรียน รวมไปถึงบัญชีการประมูลไม้พะยูงของกลางที่ผ่านมาเพื่อความโปร่งใสต่อไป