เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดพิธี“ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์" ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จ.ลำปาง โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีฯ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดพิธี นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมในพิธี

นายวราวุธฯ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ พณฯท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้เห็นชอบอนุมัติงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับมารักษาอาการเจ็บป่วยที่ประเทศไทย คุณกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนร่วมในการเจรจาทางการฑูต การจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆของทางราชการ การดำเนินพิธีการทางไซเตส การตรวจกักกันโรค ตลอดจนการรักษาอาการเจ็บป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ จากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต่อมาความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ภายในงานมีพิธีฟ้อนขันตอก พิธีฮ้องขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ โดยนายบุญยัง บุญเทียม ควาญช้างอาวุโส เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม สำหรับการฮ้องขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการเรียกขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่รัฐบาลไทยมอบให้ประเทศศรีลังกาในฐานะทูตสันถวไมตรี ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สภาพจิตใจเป็นปกติ ประสบความสำเร็จในระหว่างรักษาอาการป่วย ตามคติความเชื่อของวิถีการเลี้ยงช้าง และภายในงานยังมีการเลี้ยงขันโตกพลายสักสุรินทร์อีกด้วย

โดยชาวล้านนามีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญ

เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีฮ้องขวัญ จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุหรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยปฏิบัติต่อเนื่องกันเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจ ขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค) เป็นต้น

สำหรับสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะนี้พ้นระยะกักโรคแล้วและรักษาอาการป่วยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลช้างลำปาง หลังพิธีฮ้องขวัญ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 จะมีการจัดทำโปรแกรมการตรวจรักษาสุขภาพช้างฯ และเตรียมเปิดให้ประชาชนได้เยี่ยมชม ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ต่อไป

#กรมอุทยานแห่งชาติ

 

ขอบคุณ เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช