กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.85-35.50 ย่ำฐานรอข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.10 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.84-35.42 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทกลับมาแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ขณะที่ภาพทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. เงินยูโรร่วงลงหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซนส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)จะยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เน้นย้ำในงาน Jackson Hole Symposium ว่าเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าการตัดสินใจด้านนโยบายจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่วนเงินปอนด์ซื้อขายที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ขณะที่ตลาดลดคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายทางของธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)หลังตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 1,204 ล้านบาท และ 4,706 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ PCE และการจ้างงานของสหรัฐฯ ขณะที่เฟดตอกย้ำว่าการดำเนินนโยบายจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเราคาดว่าเงินดอลลาร์จะย่ำฐานในโซนที่แข็งค่าเล็กน้อยในระยะนี้ ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่ามีความน่าจะเป็นราว 80.5% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% และมีโอกาส 19.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. นอกจากนี้ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนและยุโรปมีแนวโน้มจำกัดการฟื้นตัวของราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์
โดยประเด็นในประเทศ กรุงศรีประเมินว่าความกังวลเกี่ยวกับภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนานในสหรัฐฯและเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงทำให้นักลงทุนลังเลที่จะเพิ่มสถานะการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในตลาดกำลังพัฒนารวมถึงสินทรัพย์สกุลเงินบาท ขณะที่จีดีพีไตรมาส 2/66 ของไทยขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดมาก สะท้อนการส่งออก การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ลดลง โดยสภาพัฒน์ลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เป็น 2.5-3.0% ส่วนกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าส่งออกเดือนก.ค. ลดลง 6.2% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนก.ค.หดตัว 11.1% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1.98 พันล้านดอลลาร์