...รายงานพิเศษ...

“ปัญหาขยะ” เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง มีการผุดโครงการไม่เทรวม เพื่อลดงบฯจัดการขยะ ทั้งจ้างคน จ้างรถ ค่ากำจัดเก็บขนต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท/ปี ผลการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนก.พ.-มิ.ย.66 ปริมาณขยะลดลง 67,248 ตัน เฉลี่ย 444 ตัน/วัน ประหยัดงบฯไป 127.8 ล้านบาท

และจากข้อมูลการจัดการขยะของสำนักสิ่งแวดล้อมระบุ ตั้งแต่ 1 ต.ค.65-31 ก.ค.66 กทม.มีปริมาณขยะจัดเก็บได้ รวม 2,649,803.75 ตัน เฉลี่ยวันละ 8,716.46 ตัน ขณะที่ปี 2565 ตั้งแต่ 1 ต.ค.64-30 ก.ย.65 เก็บได้รวม 3,277,468.73 ตัน เฉลี่ยวันละ 8,979.37 ตัน ถือว่าลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บขยะ และการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ทาง ทำให้ปริมาณขยะที่เก็บต่อวันลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามในปี 2567 กทม.มีเป้าหมายในการคัดแยกขยะเศษอาหาร จำนวน 3,000 ตัน/เดือน ปี 2568 จำนวน 5,000 ตัน/เดือน ปี 2569 จำนวน 7,000 ตัน/เดือน ขณะที่ปัจจุบัน ปี 2566 ตั้งเป้า 1,650 ตัน/เดือน ล่าสุด เดือนมินายน พบแหล่งกำเนิดคัดแยกขยะ 1,270 แห่ง เฉลี่ย 57 ตัน/วัน เดือนกรกฎาคม 3,000 แห่ง เฉลี่ย 70 ตัน/วัน รวมขยะเศษอาหารที่คัดแยกได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 (19วัน) ถึง มิถุนายน 2566 จำนวน 11,383.17 ตัน เฉลี่ย 56.92 ตัน/วัน

ทั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มกรุงเทพกลาง มีแหล่งกำเนิดคัดแยกขยะ 181 แห่ง คัดแยกได้ 2,343.64 ตัน/เดือน กลุ่มกรุงเทพเหนือ 119 แห่ง คัดแยกได้ 837.48 ตัน/เดือน กลุ่มกรุงเทพตะวันออก 290 แห่ง คัดแยกได้ 584.81 ตัน/เดือน กลุ่มกรุงธนเหนือ 226 แห่ง คัดแยกได้ 2,590.89 ตัน/เดือน กลุ่มกรุงธนใต้ 199 แห่ง คัดแยกได้ 458.02 ตัน/เดือน และกลุ่มกรุงเทพใต้ ประกอบด้วย เขตปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา พระโขนง สวนหลวง บางนา มี 255 แห่ง คัดแยกขยะได้สูงสุดใน กทม.จำนวน 4,568.17 ตัน/เดือน และตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป กทม.จะดำเนินโครงการไม่เทรวมทั้ง 50 เขต ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ประชาชนแจ้งเข้าร่วมโครงการผ่านฝ่ายรักษาความสะอาดของสำนักงานเขต

...ปัญหาและสถานการณ์การเก็บขยะที่พบปัจจุบัน... แม้ว่าจะมีรถเก็บขยะเพียงพอสำหรับการจัดเก็บขยะเฉลี่ย 10,000 ตัน/วัน (กรณีใช้สองรอบทุกคัน) แต่สิ่งที่พบคือจำนวนพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอยขาดถึง 26 เขต / เกิน 23 เขต / เหมาะสม 1 เขต ในขณะที่พนักงานเก็บขยะขาดแคลน 29 เขต / เกิน 21 เขต ซึ่งพบว่ากลุ่มเขตชั้นนอกโดยเฉพาะกรุงเทพตะวันออก ขาดกำลังคนมากที่สุด รองลงมาได้แก่กรุงเทพเหนือ ส่วนเขตชั้นนอกยังไม่สามารถเพิ่มรอบเก็บสองรอบต่อสัปดาห์ได้ทั้งหมด ประกอบกับการกำหนดจุดพักขยะในหมู่บ้านจัดสรร กฎหมายไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจน และที่อยู่อาศัยเช่น แฟลตรุ่นเก่า ทิ้งขยะลงปล่อง เจ้าหน้าที่เขตต้องเข้าไปโกยเอง ทำให้การทำงานทำได้ยากลำบาก จุดนี้เจ้าของอาคารต้องอำนวยความสะดวก

...แนวทางการแก้ไขปัญหา... ที่ผ่านมามีการปรับเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรเกษียณอายุราชการปี 66 จากเขตที่เกิน ไปยังเขตที่ขาด ปรับจำนวนรถจากเขตที่มากเกินไปยังเขตที่ได้รับบุคลากรเพิ่ม สำนักสิ่งแวดล้อมส่งพื้นที่เก็บขยะให้เขตที่มีบุคลากรเกิน และส่งรถและบุคลากรไปสนับสนุนเขตที่ขาด เขตปรับเส้นทางรถเก็บขนมูลฝอยให้เหมาะสมกับขนาดบรรทุกของรถพร้อทออกประกาศกำหนดจุดทิ้งขยะ เช่น วันเวลาทิ้ง เพื่อให้ทิ้งขยะตามจุดที่กำหนดในวันเวลาที่กำหนด ปรับปรุงแผนให้จัดเก็บขยะสองครั้งต่อสัปดาห์ ระบุพื้นที่ วันเก็บ เวลาจัดเก็บให้ชัดเจน สุดท้ายคือส่งเสริมให้หมู่บ้านจัดสรรจัดที่พักขยะลดการบริการเก็บรายบ้าน

ปัจจุบัน กทม.มีพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอย 2,594 อัตรา สำรอง 113 คน รวม 2,707 คน ต้องการใช้ 2,725 คน เกษียณ 44 เขต 106 คน ตัดจากเขตที่อัตราเกิน 22 เขต 54 คน เพิ่มอัตราให้เขตที่ขาดกำลังคน 13 เขต 54 คน ขณะที่มีพนักงานทั่วไปเก็บขยะมูลฝอยมี 7,770 อัตรา ต้องการใช้ 8,004 คน เกษียณ 48 เขต 192 คน ตัดจากเขตที่อัตราเกิน 21 เขต 100 คน เพิ่มอัตราให้เขตที่ขาดกำลังคน 12 เขต 100 คน โดย กทม.จะเริ่มปรับเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรเกษียณอายุราชการปีภายใน 1 เดือนนับจากนี้ (ก.ย.66) และคาดว่าจะแก้ปัญหาขาดอัตรากำลังและแก้ปัญหาจัดเก็บขยะได้ลงตัวภายใน 3 ปี

...ให้อำนาจเขตพื้นที่ในการจัดการลดปัญหาขยะตกค้าง... โดยนายชัชชาติ ได้มอบอำนาจให้ผอ.เขตมีอำนาจออกประกาศตามข้อบังคับ กทม. ปี พ.ศ.2545 และ คำสั่ง กทม.ที่ 3305/2545 เพื่อเป็นแนวทางจัดเก็บมูลฝอยในหมู่บ้านจัดสรร ประกอบด้วย 1.การดำเนินการระยะสั้น หมู่บ้านจัดสรรที่ได้รับอนุญาตก่อนปี 63 สำนักงานเขตแจ้งให้หมู่บ้านมีที่พักรวมมูลฝอย หากไม่มี ต้องกำหนดวันเวลาจัดเก็บและจุดทิ้งในพื้นที่ หรือในที่ที่สำนักงานเขตกำหนด และให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกในการเก็บขน ส่วนระยะยาว จะมีการออกกฎหมายกำหนดให้หมู่บ้านจัดสรรต้องมีที่พักรวมมูลฝอย ปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างข้อบัญญัติ กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน 2.หมู่บ้านจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตั้งแต่ปี 63 กำหนดให้นิติบุคคล หรือ ผู้ดูแลหมู่บ้านจัดสรรดำเนินการตามแผนผังการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาต ซึ่งต้องมีที่พักรวมมูลฝอย ทั้งนี้ การจัดการขยะในกทม.มีหลายปัจจัยประกอบ ภายใต้ประชากรกว่า 10 ล้านคน อาจต้องคิดวิธีจัดการเพิ่ม เช่น สร้างแรงจูงใจคัดแยก หากไร้ความร่วมมือ โครงการไม่เทรวมอาจชะงัก