"รมช.มนัญญา" ขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้สมาชิกอย่างยั่งยืน พร้อมเป็นประธานเปิดโครงการ “ปันน้ำใจสู่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน”
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ติดตามการดำเนินงานและความก้าวหน้าตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมี นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นางสาวโสภิดา ศรัทธารัตน์ สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส นายวัน แก้วสุกใส ประธานกรรมการสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด คณะกรรมการดำเนินการ สมาชิกสหกรณ์ และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนราธิวาส พร้อมกล่าวมอบนโยบาย “จะเห็นได้ว่า โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดนราธิวาสนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เสริมสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรผ่านโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรด้วยระบบสหกรณ์ ส่งผลให้สมาชิกมีความสามารถในการบริหารหนี้สินของตนเอง ผ่านกลไกการให้บริการของสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ตนเองสังกัด รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป”
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ที่มาให้การต้อนรับ พร้อมมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) และหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด และสหกรณ์นิคมบาเจาะ จำกัด จำนวน 20 ราย พร้อมเยี่ยมชมบูธแสดงผลผลิตสินค้าของผู้แทนกลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด เช่น พริก แตงกวา จากเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ ฝรั่งกิมจู มะพร้าวน้ำหอม กระท้อน มะม่วง จากเกษตรกรผู้ทำการเกษตรผสมผสาน เงาะ ลองกอง มังคุด และทุเรียน จากเกษตรกรผู้ทำสวนผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมายจากเกษตรกรผู้ทำนาข้าว เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดสายพันธุ์พื้นถิ่นลุ่มน้ำบางนรา กลุ่มแม่บ้านผู้ผลิตตะกร้าสาน เกษตรกรผู้ทำสวนมะนาว เกษตรกรผู้ผลิตขนมกระหรี่ปั๊บ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส นิคมสหกรณ์ปิเหล็ง ได้ส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของสมาชิกสหกรณ์ และสนับสนุนเงินทุนกู้ยืม จัดอบรมให้ความรู้ และให้บริการอุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตร เพื่อพัฒนาอาชีพของสมาชิก สร้างรายได้ และความมั่นคงทางอาชีพให้สมาชิกสหกรณ์มีได้เลี้ยงครอบครัวและพึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงโค เลี้ยงปลา การปลูกผักปลอดสารพิษ รวมทั้งส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากนี้ นิคมสหกรณ์ปิเหล็งยังมีการจัดโครงการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยในเขตนิคมสหกรณ์ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้ การผลิตพืชปลอดภัยของสมาชิกสหกรณ์นิคมนำไปสู่การได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP หรือ PGS และมาตรฐานเกษตรอินทรียขั้นสูง
สหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 672 คน ดำเนินธุรกิจ 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจให้บริการ นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นที่พึ่งของสมาชิก และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์
ทำอาชีพเสริมเพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยสนับสนุนเงินทุนกู้ยืม และรวบรวมผลผลิตนำไปจำหน่าย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2542 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง ทำการปลูกปาล์มน้ำมันให้มากขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ ก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถนน คลองระบายน้ำ ท่อลอด ประตูระบายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี พร้อมปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรให้มีตลาดที่แน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม
ปัจจุบันนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 13,119 ไร่ และการปลูกปาล์มน้ำมันได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร และมีการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่จัดตั้งเป็นสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด ขึ้น เพื่อช่วยเหลือดูแลเกษตรกร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ฯลฯ โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาสคอยให้คำปรึกษา แนะนำและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางไปยังโรงเรียนราชพัฒนา หมู่ 6 ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ปันน้ำใจสู่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน” ครั้งที่ 2 เพื่อมอบอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์กีฬา สิ่งของ ทุนการศึกษา และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนราชพัฒนา และโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชภักดี โรงเรียนราชประสงค์ โรงเรียนบ้านจูโว๊ะ และโรงเรียนบ้านตาโง๊ะ รวมทั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอ อำเภอศรีสาคร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ อำเภอศรีสาคร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย อำเภอรือเสาะ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านลีนานนท์ อำเภอสุคิริน และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านไอร์บือแต อำเภอจะแนะ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนคณะครู นักเรียน และเยี่ยมชมบริเวณห้องน้ำที่ซ่อมแซม ห้องครัว และห้องกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน
รมช.มนัญญา กล่าวว่า “โครงการปันน้ำใจสู่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนของชาติ รวมทั้งเข้ามาเติมเต็มทักษะการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียนและครูผู้สอน อุปกรณ์การกีฬาที่จะช่วยสร้างศักยภาพของเด็กให้มีความเข้มแข็งทั้งกายและใจ รวมไปถึงทุนการศึกษาที่จะมอบโอกาสและต่อยอดการเรียนให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การพัฒนาเมืองให้เติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพิ่มโอกาสและการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะการศึกษา ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะผลักดันการดำเนินงาน การแก้ปัญหา และสร้างพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม นำมาซึ่งบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองต่อไปในอนาคต”
กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานี และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดยะลา พร้อมขบวนการเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำโครงการ “ปันน้ำใจสู่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ภาพลักษณ์ของขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้องค์กรต่างๆ และชุมชนในพื้นที่ได้ทราบถึงบทบาทของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในการดำเนินกิจกรรมภายใต้หลักการสหกรณ์ “เอื้ออาทรต่อสังคมและชุมชน” ในการให้การแบ่งปัน การมีเมตตาต่อผู้อื่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างจริยธรรมในใจที่ดี รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่นิคมสหกรณ์ปิเหล็งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร และเติมเต็มทางด้านการศึกษาอีกด้วย